คุณกำลังมองหาอะไร?

ถานการณ์และแนวโน้มปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย - อนามัยพยากรณ์

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

30.06.2566
104
0
แชร์
30
มิถุนายน
2566

สถานการณ์และแนวโน้มปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

ทีมบรรณาธิการ I 30 มิถุนายน 2566

 

FOCUS
  • ผลสำรวจอนามัยโพล ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 – 29 มิ.ย. 2566 พบประเด็นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาและต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือหรือสนับสนุน ได้แก่ ภัยพิบัติ (ร้อยละ 51.8) มลพิษทางอากาศ (ร้อยละ 46.0) และการจัดการขยะไม่ดี (ร้อยละ 45.1)
  • จำแนกตามชุมชนในพื้นที่เขตการปกครอง พบว่า ปัญหาต่างๆ มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value < 0.01) โดยพบปัญหาภัยพิบัติมากที่สุดในชุมชนที่อยู่พื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล  ปัญหามลพิษทางอากาศพบมากในชุมชนที่อยู่พื้นที่เขตการปกครองพิเศษ (กทม./พัทยา) และ ปัญหาขยะตกค้างพบมากในชุมชนที่อยู่พื้นที่เทศบาลตำบล
  • เพื่อเตรียมพร้อมรองรับปัญหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งจัดการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหา โดยการบูรณาการของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยองค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ควรให้ความสำคัญในอนาคต ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางอากาศ การเสื่อมสภาพทางธรรมชาติ การปนเปื้อนสารเคมี และการจัดการขยะ

 

     เนื่องในวันที่ 4 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของงานอนามัยสิ่งแวดล้อม และเกิดการประสานความร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน กองพยากรณ์สุขภาพ กรมอนามัย จึงขอนำเสนอข้อมูลสถานการณ์และแนวโน้มปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ดังนี้

     ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีหลากหลายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มวัย หากปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการจัดการและแก้ไข ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากทั้งกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่อาจทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และปัญหาในอนาคตนั้นอาจมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและพบบ่อยขึ้น

 

     จากข้อมูลผลการสำรวจอนามัยโพล1 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 – 29 มิถุนายน 2566 มีจำนวนผู้ตอบรวม 21,614 ราย ในประเด็นคำถามเรื่อง “ปัจจุบันในชุมชนของท่าน ประสบปัญหาอะไร ที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ หรือสนับสนุนมากที่สุด” พบว่า ปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาและต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือหรือสนับสนุนมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง  ภัยหนาว อากาศร้อน (ร้อยละ 51.8) มลพิษทางอากาศ จากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น หมอกควัน  เผาในที่โล่ง  (ร้อยละ 46.0) และ พบขยะตกค้าง สะสม การจัดการขยะไม่ดี (ร้อยละ 45.1) ตามลำดับ รายละเอียดแสดงดังภาพที่ 1 ผลการสำรวจอนามัยโพล “ปัจจุบันในชุมชนของท่าน ประสบปัญหาอะไร ที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ หรือสนับสนุนมากที่สุด”

      เมื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่ประชาชนประสบและต้องการความช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากภาครัฐ จำแนกตามชุมชนในพื้นที่เขตการปกครอง พบว่า ปัญหาต่างๆ ข้างต้น มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value < 0.01) โดยพบปัญหาภัยพิบัติมากที่สุดในชุมชนที่อยู่พื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล  ปัญหามลพิษทางอากาศ พบมากในชุมชนที่อยู่พื้นที่เขตการปกครองพิเศษ (กทม/พัทยา) และ ปัญหาขยะตกค้าง พบมากในชุมชนที่อยู่พื้นที่เทศบาลตำบล เป็นต้น รายละเอียดดังตารางที่ 1 ผลสำรวจอนามัยโพล “ปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อม ที่ประชาชนประสบและต้องการความช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากภาครัฐ” จำแนกตามชุมชนในพื้นที่เขตการปกครอง ปี 2566

 

ผลสำรวจอนามัยโพล “ปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อม ที่ประชาชนประสบและต้องการความช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากภาครัฐ” จำแนกตามชุมชนในพื้นที่เขตการปกครอง ปี 2566

ประเด็นปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อม

ร้อยละของผู้ตอบที่อยู่ในพื้นที่

 
P-value

อบต.

กทม/พัทยา

เทศบาลตำบล

เทศบาลนคร/เมือง

ทั้งประเทศ

ภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง  ภัยหนาว อากาศร้อน

57.8

23.5

51.0

30.0

51.8

< 0.01

น้ำสะอาดไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค

41.6

16.7

37.7

19.8

37.4

< 0.01

ร้านค้า/ร้านอาหาร จำหน่ายอาหารที่ไม่สะอาด

23.9

24.1

28.4

23.8

25.0

< 0.01

พบขยะตกค้าง/สะสม การจัดการขยะไม่ดี

44.4

47.6

48.1

40.9

45.1

< 0.01

ส้วมสาธารณะไม่สะอาด ไม่ปลอดภัย ไม่เพียงพอ

34

35.4

39.0

33.1

35.4

< 0.01

มลพิษทางอากาศ จากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น หมอกควัน  เผาในที่โล่ง

44.6

65.7

47.2

41.3

46.1

< 0.01

มลพิษทางน้ำ เช่น แม่น้ำ ลำคลองมีขยะ น้ำเสีย ส่งกลิ่นเหม็น

23.8

33.3

24.6

23.2

24.5

< 0.01

การระบาดของโรคทางเดินหายใจ เช่น โควิด 19  โรคมือเท้าปาก 

35.8

25.1

39.2

24.7

35.1

< 0.01

การระบาดของโรคทางเดินอาหารและน้ำ เช่น อุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาหารเป็นพิษ

20.9

11.8

21.7

14.0

20.0

< 0.01

พื้นที่สีเขียว ไม่เพียงพอต่อการกิจกรรมสาธารณะ

23.3

41.2

27.3

26.5

25.5

< 0.01

หมายเหตุ สีส้ม คือ ร้อยละของผู้ตอบปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆมีค่ามมากกว่าร้อยละของผู้ตอบปัญหาดังกล่าวในภาพรวมประเทศ

 

     ดังนั้น เพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในปัจจุบัน และเตรียมพร้อมรองรับกับแนวโน้มปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งจัดการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ เหล่านี้  โดยการบูรณาการและการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ โดยองค์การอนามัยโลกได้ คาดการณ์ว่าปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ควรให้ความสำคัญในอนาคต2 ได้แก่ประเด็นดังต่อไปนี้  

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ ความร้อนที่สูงขึ้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรง เช่น พายุ น้ำท่วม และแผ่นดินไหว และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล3
  2. มลพิษทางอากาศ: สาเหตุจากกิจกรรมอุตสาหกรรม การจราจรการขนส่ง และการเผาไหม้ ซึ่งในประเทศไทยยังมีปัญหาการเผาในที่โล่ง เผาถ่านไม้และการใช้พลังงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และผลกระทบอื่น ๆ ต่อสุขภาพของประชาชนได้
  3. การเสื่อมสภาพทางธรรมชาติ: การพังทลายของป่าไม้ ทำลายทัศนียภาพธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในป่า พื้นที่สีเขียวที่ลดน้อยลง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การขาดน้ำ เสื่อมสภาพดิน และปัญหาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
  4. การปนเปื้อนสารเคมี: การใช้สารเคมีในการเกษตรอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนผ่านทางอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบข้าง เช่น สารเคมีฆ่าแมลง สารเคมีในปุ๋ยเคมี และสารเคมีอื่น ๆ ที่อาจมีผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน
  5. การจัดการขยะ: ปัญหาการจัดการขยะในประเทศไทยยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ การบริโภคสินค้าและการผลิตขยะที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องรับมือกับปัญหาการจัดการขยะที่สูงขึ้น การทิ้งขยะในที่ไม่เหมาะสม การนำขยะไปเผา และการกำจัดขยะที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

 

แหล่งอ้างอิง

  1. กองพยากรณ์สุขภาพ กรมอนามัย (2566) ผลการสำรวจอนามัยโพล “ปัจจุบันในชุมชนของท่าน ประสบปัญหาอะไร ที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ หรือสนับสนุนมากที่สุด” ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 – 29 มิถุนายน
  2. World Health Organization. (2008). Our cities, our health, our future: acting on social determinants for health equity in urban settings. Report to the WHO Commission on Social Determinants of Health from the Knowledge Network on Urban Settings. Our cities, our health, our future: acting on social determinants for health equity in urban settings. Report to the WHO Commission on Social Determinants of Health from the Knowledge Network on Urban Settings
  3. Romanello, M., McGushin, A., Di Napoli, C., Drummond, P., Hughes, N., Jamart, L., ... & Hamilton, I. (2021). The 2021 report of the Lancet Countdown on health and climate change: code red for a healthy future. The Lancet, 398(10311), 1619-1662..

 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน