กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
ภัทราภรณ์ พวงศรี
อนามัยโพลได้ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนกับการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 1 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 700 ราย พบว่าผู้ตอบเกือบร้อยละ 60 วางแผนที่จะไปเที่ยวช่วงสงกรานต์ในปีนี้
เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจอนามัยโพล ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนมีแนวโน้มวางแผนเดินทางไปเที่ยวในเทศกาลสงกรานต์เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน จากปี 2566 ถึงปี 2567 จากร้อยละ 48.1 เป็นร้อยละ 51.8 และร้อยละ 58.9 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า เทศกาลสงกรานต์ในปี 2567 นี้ ประชาชนจะมีการเดินทางท่องเที่ยวที่คึกคักมากขึ้น โดยเมื่อถามถึงกิจกรรมที่จะทำหรือสถานที่ที่จะไป 3 อันดับแรกในปี 2567 ได้แก่ เดินทางไปพบปะรวมญาติพี่น้อง ร้อยละ 40.1 ไปเที่ยววัด โบราณสถาน ร้อยละ 25.1 และไปช็อปปิ้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้อยละ 16 ตามลำดับ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความกังวลในการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากกังวลเรื่องผู้คนแออัด การจราจรหนาแน่น ร้อยละ 53.8 รองลงมาคือกังวลเรื่องความปลอดภัยอุบัติเหตุบนท้องถนน ร้อยละ 29.3 และเรื่องความสะอาดของที่พักร้านอาหาร และปั๊มน้ำมัน ร้อยละ 11.7
เมื่อถามถึงการเดินทางท่องเที่ยวที่ต้องพักค้าง ประชาชนมีการเลือกที่พักโดยคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้ ได้แก่ ที่มีห้องพักและบริเวณโดยรอบสะอาด ร้อยละ 76.4 รองลงมาคือมีมาตรการด้านความปลอดภัยทรัพย์สิน ร้อยละ 33.7 โดยสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากให้แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหารในประเทศไทย ควรพัฒนามากที่สุด คือ ด้านสุขอนามัย ความสะอาด และความปลอดภัยต่อสุขภาพ ร้อยละ 46 แสดงให้เห็นว่าประเด็นเรื่องความสะอาดเป็นปัจจัยสำคัญทั้งในการตัดสินใจในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยว
นอกจากนี้ จากผลสำรวจอนามัยโพลเกี่ยวกับพฤติกกรรมด้านสุขอนามัยที่ทำเป็นประจำ ในเดือนมีนาคม 2567 พบว่า สวมหน้ากากเมื่อฝุ่นสูงที่ร้อยละ 87.7 ล้างมือที่ร้อยละ 91 และกินอาหารปรุงสุก ร้อยละ 96.6 เมื่อเปรียบเทียบแนวโน้มในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม - มีนาคม 2567) พบว่าพฤติกรรมการกินอาหารปรุงสุกสะอาดเพิ่มมากขึ้น แต่พฤติกรรมการสวมหน้ากากเมื่อฝุ่นสูงและการล้างมือมีแนวโน้มลดลง จึงควรเน้นย้ำให้ประชาชนล้างมือบ่อยๆ เป็นประจำให้มากขึ้น
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 นี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ไทย” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เมื่อเดือนธันวาคม 2566 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้คนแออัด อาจเกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และมีการจราจรที่หนาแน่น อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์อย่างปลอดภัย คลายกังวล จึงขอความร่วมมือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมทั้งโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหารให้ดูแลรักษาความสะอาด เพราะจะเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญในการเรียกนักท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าในการเข้าพักและท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยได้ และผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวต้องมีพฤติกรรมสุขอนามัยที่ดี โดยเฉพาะการล้างมือบ่อยๆ รวมทั้งเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่ต้องระมัดระวังในการเดินทาง ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
แหล่งข้อมูล
กองพยากรณ์สุขภาพ กรมอนามัย. (2567). อนามัยโพล เรื่อง “ท่องเที่ยวสงกรานต์ 2567”. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2567.
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล. (2567). แฟ้มภาพและคำพูดนายกรัฐมนตรี: UNESCO ประกาศ! “สงกรานต์ไทย” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ”.
Writer | |
ภัทราภรณ์ พวงศรี |
Executive Editor | |
เบญจวรรณ ธวัชสุภา |