คุณกำลังมองหาอะไร?

กา

การป้องกันตนเอง กับอาการที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัส PM2.5 : อนามัยพยากรณ์

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

19.04.2567
44
0
แชร์
19
เมษายน
2567

เบญจวรรณ ธวัชสุภา

 

กรมอนามัย ได้ดำเนินการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM2.5 เชิงรุก โดยให้ประชาชนสำรวจอาการตนเอง และพฤติกรรมการปฎิบัติตนเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ ด้วยเครื่องมือ 4health PM2.5 โดยในปีงบประมาณ 2567 เริ่มเฝ้าระวังตั้งแต่ 14 ธันวาคม 2566 - 18 เมษายน 2567 มีผู้ร่วมตอบรวม 27,713 คน ดังนี้

  • ภาพรวมทั้งประเทศ (N = 27,713 คน) พบอาการที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ที่พบมากที่สุด 3 ลำดับแรก (จากทั้งหมด 21 อาการที่เฝ้าระวัง) ได้แก่ คัดจมูก ร้อยละ 10.32 แสบตา ร้อยละ 10.13 และมีน้ำมูก ร้อยละ 7.70
  • เฉพาะพื้นที่เสี่ยงจากวิกฤติ PM2.5 ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ (N = 389 คน) อาการที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ที่พบมากที่สุด 3 ลำดับแรกคือ มีน้ำมูก ร้อยละ 11.31 แสบตา ร้อยละ 10.3 และแสบจมูก ร้อยละ 7.97 ตามลำดับ
  • เมื่อวิเคราะห์ความต่างของแต่ละอาการที่เกิดขึ้นระหว่างในพื้นที่เสี่ยง 8 จังหวัดภาคเหนือ กับพื้นที่อื่นๆ พบว่า ในพื้นที่เสี่ยง 8 จังหวัดภาคเหนือ พบผู้มีอาการมีน้ำมูก ตาแดง มากกว่าพื้นที่อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value < 0.05)

 

สรุปผลปัจจัยที่ส่งผลให้มีอาการเกี่ยวกับ PM2.5

1) สถานการณ์และปัจจัยที่ส่งผลให้มีอาการเกี่ยวกับ PM2.5 โดยแยกพื้นที่ภาพรวมทั้งประเทศ กับ 8 จังหวัดภาคเหนือ

ภาพประเทศ พบผู้ที่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส PM2.5 คิดเป็น ร้อยละ 34.76 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีอาการ ได้แก่ เพศ อายุ มีโรคประจำตัว และพฤติกรรมป้องกันตนเอง (โดยมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ P-value < 0.05) โดยค่า Adjusted Odd ratios ปรับฐานด้วยปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีอาการข้างต้น สรุปผลดังตารางที่ 2 และ 3 ได้ดังนี้

  • เพศหญิง มีความเสี่ยงที่จะมีอาการมากกว่าเพศชาย ที่ 1.13 เท่า
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว มีความเสี่ยงที่จะมีอาการมากกว่า ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว ที่ 1.76 เท่า
  • ผู้ที่ไม่ป้องกันตัวเองจากฝุ่น (มีระดับคะแนนพฤติกรรมป้องกันน้อยกว่า 8 คะแนนจาก 12 คะแนน) มีความเสี่ยงที่จะมีอาการมากกว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมป้องกันตนเอง ที่ 2.02 เท่า

เมื่อวิเคราะห์เฉพาะพื้นที่เสี่ยงฝุ่นสูง ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ พบผู้ที่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส PM2.5 คิดเป็น ร้อยละ 28.28 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีอาการ ได้แก่ เพศ อายุ มีโรคประจำตัว (โดยมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ P-value < 0.05) โดยค่า Adjusted Odd ratios (ปรับฐานด้วยปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีอาการได้แก่ เพศ กลุ่มอายุ และโรคประจำตัว) สรุปผล ได้ดังนี้

  • เพศหญิง มีความเสี่ยงที่จะมีอาการมากกว่าเพศชาย ที่ 4.47 เท่า
  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี มีความเสี่ยงที่จะมีอาการน้อยกว่ากลุ่มอายุน้อยกว่า 15 ปี ที่ 0.41 เท่า
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว มีความเสี่ยงที่จะมีอาการมากกว่า ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว ที่ 5.79 เท่า

2) เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลให้มีอาการเกี่ยวกับ PM5 แยกรายพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากฝุ่น

ภาพประเทศ พบว่าพฤติกรรมที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส PM2.5 (อย่างน้อย 1 อาการขึ้นไป) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ที่ P-value < 0.05) แสดงด้วยค่า Adjusted Odd ratios (ปรับฐานด้วย เพศ อายุ และโรคประจำตัว) สรุปผลดังตารางที่ 2 และ 3 ดังนี้

  • การเผาขยะ/กระดาษ จุดธูป มีความเสี่ยงเกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส PM2.5 ได้ถึง 1.56 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เผาขยะ/กระดาษ ไม่จุดธูป
  • การออกกำลังกายกลางแจ้งช่วงฝุ่นสูง มีความเสี่ยงเกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส PM2.5 ได้ถึง 1.61 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ออกกำลังกายกลางแจ้งช่วงฝุ่นสูง
  • การไม่ตรวจเช็คคุณภาพอากาศก่อนออกนอกบ้าน มีความเสี่ยงเกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส PM2.5 ได้ถึง 1.28 เท่า

ข้อมูลเฉพาะพื้นที่เสี่ยงฝุ่นสูง 8 จังหวัดภาคเหนือ พบว่าพฤติกรรมที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส PM2.5 (อย่างน้อย 1 อาการขึ้นไป) อย่างมีนัยสำคัญ (ที่ P-value < 0.05) แสดงด้วยค่า Adjusted Odd ratios (ปรับฐานด้วย เพศ กลุ่มอายุ และโรคประจำตัว) สรุปผลดังตารางที่ 2 และ 3 ดังนี้

  • การไม่ตรวจเช็คคุณภาพอากาศก่อนออกนอกบ้าน มีความเสี่ยงเกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส PM2.5 ได้ถึง 4.51 เท่า
  • การไม่ปิดประตูหน้าต่าง มีความเสี่ยงเกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส PM2.5 ได้ถึง 7.73 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ปิดประตูหน้าต่าง
  • การเผาขยะ/กระดาษ จุดธูป มีความเสี่ยงเกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส PM2.5 ได้ถึง 5.46 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เผาขยะ/กระดาษ ไม่จุดธูป

 

ข้อเสนอต่อกรมอนามัย

1) กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เตรียมการเฝ้าระวังเชิงรุกและและสื่อสารแจ้งเตือนผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM2.5 ตามมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี PM2.5 โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สุงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีพฤติกรรมป้องกันตนเองที่ไม่ดี และโดยเฉพาะเพศหญิง เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะมีอาการมากกว่ากลุ่มอื่น

2) กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ ควรสื่อสารเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตนเพื่อป้องกันตนเองจาก PM2.5 โดยเฉพาะพฤติกรรมที่สำคัญ ที่พบว่าช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเกี่ยวกับ PM2.5 ได้ โดยเฉพาะ การงดการเผาขยะ/กระดาษ จุดธูป งดการออกกำลงกายกลางแจ้ง และการตรวจเช็คคุณภาพอากาศก่อนออกนอกบ้าน และ เป็นต้น

3) กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ร่วมกับศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ วางแผนการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ ในพื้นที่เสี่ยง 8 จังหวัดภาคเหนือ เนื่องจากพบผู้มีอาการมีน้ำมูก ตาแดง เสียงแหบ มากกว่าพื้นที่อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และวางแผนเพื่อการสื่อสารแจ้งเตือนช่วงวิกฤตฝุ่นในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่สำคัญที่ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ได้แก่ การตรวจเช็คคุณภาพอากาศก่อนออกนอกบ้าน การปิดประตูหน้าต่าง และงดการเผาขยะ/กระดาษ จุดธูป เป็นต้น

 

  Writer
 
  เบญจวรรณ ธวัชสุภา

 

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

ภาคผนวก 4health อนามัยพยากรณ์.pdf
ขนาดไฟล์ 453KB
ดาวน์โหลด 1 ครั้ง
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน