คุณกำลังมองหาอะไร?

ลกระทบและการป้องกันตัวจากความร้อน : อนามัยพยากรณ์

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

01.05.2567
80
0
แชร์
01
พ.ค.
2567

สุนิษา มะลิวัลย์

 

จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เห็นได้จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดรุนแรงขึ้นและยาวนานขึ้น รวมทั้งครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้เกิดอาการตั้งแต่เล็กน้อย เช่น ผื่นคัน ตะคริว ไปจนถึงอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากฮีทสโตรกได้ กรมอนามัยจึงได้เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมในการป้องกันตัวเองจากความร้อน ของประชาชน ด้วยเครื่องมืออนามัยโพลในช่วงฤดูร้อน โดยผลระหว่าง วันที่ 1 มีนาคม – 29 เมษายน 2567 มีผู้ตอบแบบสำรวจรวม 1,186 คน สรุปได้ดังนี้

 

1. อาการที่เกี่ยวข้องกับความร้อน พบว่า อาการที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ปวดศีรษะ ร้อยละ 22.7 รองลงมาคือ ท้องผูก ร้อยละ 12.9 เป็นตะคริวที่ขา แขน หรือท้อง ร้อยละ 12.5 ปัสสาวะมีสีเข้ม ร้อยละ 12.3 และมีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง 11.3 ตามลำดับ

 

2. พฤติกรรมในการป้องกันตัวเองจากความร้อน พบว่า คนส่วนใหญ่ทำเป็นประจำได้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังรับประทานอาหาร รวมทั้งหลังจากเข้าห้องน้ำ ร้อยละ 92.2 รองลงมาคือ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ร้อยละ 87.9 รับประทานอาหารโดยใช้ช้อนกลาง ร้อยละ 86.3

 

3. ความสัมพันธ์ระหว่างอาการและพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากความร้อน
เมื่อวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างอาการที่เกี่ยวข้องกับความร้อน (มีอาการมากกว่า 1 อาการขึ้นไปจาก 16 อาการ) กับพฤติกรรมการป้องกันตนเองที่ไม่ดี (ทำบางครั้ง/ไม่ทำเลย) ด้วย Multivariate logistic regression แสดงด้วยค่า Adjusted Odd Ratios (ปรับฐานด้วย อายุ อาชีพ เขตเมือง/ชนบท ระดับการศึกษา พื้นที่อยู่อาศัย) พบว่า

  • ผู้ที่ไม่สวมอุปกรณ์ป้องกันแดด (หมวก แว่นตา ทาครีมกันแดด) มีความเสี่ยงที่จะมีอาการเป็น 2.13 เท่า ของผู้ที่สวมเป็นประจำ
  • ผู้ที่ไม่ล้างมือให้สะอาดก่อน-หลังรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ มีความเสี่ยงที่จะมีอาการเป็น 2.12 เท่าของผู้ที่ล้างมือเป็นประจำ
  • ผู้ที่รับประทานอาหารโดยไม่ใช้ช้อนกลาง มีความเสี่ยงที่จะมีอาการเป็น 1.84 เท่าของผู้ที่รับประทานอาหารโดยใช้ช้อนกลางเป็นประจำ
  • ผู้ที่ไม่รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ มีความเสี่ยงที่จะมีอาการเป็น 1.65 เท่า ของผู้รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่เป็นประจำ
  • ผู้ที่ดื่มสุรา น้ำหวาน น้ำอัดลม มีความเสี่ยงที่จะมีอาการเป็น 1.62 เท่าของคนที่ไม่ดื่มสุรา น้ำหวาน น้ำอัดลม
  • ผู้ที่ไม่เช็คพยากรณ์อากาศ มีความเสี่ยงที่จะมีอาการเป็น 1.60 เท่า ของผู้ที่เช็คเป็นประจำ
  • ผู้ที่ไม่สวมเสื้อผ้าสีอ่อนระบายอากาศดี มีความเสี่ยงที่จะมีอาการเป็น 1.59 เท่า ของผู้สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี
  • ผู้ที่ไม่ทำความสะอาดพัดลมหรือแอร์ มีความเสี่ยงที่จะมีอาการเป็น 1.49 เท่า ของคนที่ล้างพัดลมหรือแอรเป็นประจำ
  • ผู้ที่ไม่ดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำ มีความเสี่ยงที่จะมีอาการเป็น 1.39 เท่า ของผู้ที่ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ
  • ผู้ที่ไม่อยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ มีความเสี่ยงที่จะมีอาการเป็น 1.34 เท่า ของผู้ที่อยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ

ภาพความสัมพันธ์ระหว่างอาการและพฤติกรรมเสี่ยงจากความร้อน แสดงด้วย ค่า Adjusted OR (ปรับฐานด้วย อายุ อาชีพ เขตเมือง/ชนบท ระดับการศึกษา พื้นที่อยู่อาศัย) และ 95% Confidence Interval

 

ข้อเสนอแนะ

ทุกคนควรปฏิบัตินให้ถูกต้องเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนในช่วงสภาพอากาศร้อนจัดนี้ โดยพฤติกรรมที่ควรปฎิบัติเป็นปประจำ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน โดยเฉพาะการสวมอุปกรณ์ป้องกันแดด (หมวก แว่นตา ทาครีมกันแดด) การล้างมือให้สะอาดก่อน-หลังรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เนื่องจากพฤติกรรมเหล่านี้ หากไม่ทำหรือทำเพียงบางครั้งมีความเสี่ยงที่จะมีอาการที่เกี่ยวข้องกับความร้อน ได้ถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ทำเป็นประจำ

 

ความร่วมโดย กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ

 

  Writer
 
  สุนิษา มะลิวัลย์

 

  Executive Editor
 
  เบญจวรรณ ธวัชสุภา

 

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

อนามัยพยากรณ์ ความร้อน.pdf
ขนาดไฟล์ 149KB
ดาวน์โหลด 6 ครั้ง
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน