คุณกำลังมองหาอะไร?

วามกังวลและเตรียมการเพื่อรับมือน้ำท่วม ปี 67 | อนามัยพยากรณ์

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

29.08.2567
97
0
แชร์
29
สิงหาคม
2567

สุนิษา  มะลิวัลย์

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังมีฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ต่าง ๆ และส่งผลให้เกิดน้ำหลากในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดแพร่ น่าน เชียงราย และสุโขทัย ซึ่งมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบหลายครัวเรือน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมยังเป็นปัญหาในหลายพื้นที่ และคาดการณ์ว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้นจากปริมาณฝนที่สะสมเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝนใน 3 วันข้างหน้า แบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้

  • ช่วงวันที่ 28 – 30 ส.ค. 67: ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และอาจมีฝนตกหนักถึงหนักมากได้ในบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ อุดรธานี สกลนคร นครพนม นครสวรรค์ อุทัยธานี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยอง จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง สตูล
  • ช่วงวันที่ 31 ส.ค. – 3 ก.ย. 67: ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และอาจมีฝนตกหนักถึงหนักมากได้ในบางแห่งบริเวณด้านตะวันตกของประเทศ ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนข้างต้น พบว่าตั้งแต่วันนี้ 28 สิงหาคม ถึงวันที่ 3 กันยายน 2567 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และอาจมีฝนตกหนักถึงหนักมากได้ในบางแห่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของประชาชนในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ กรมอนามัย โดยกองพยากรณ์สุขภาพ กรมอนามัย ดำเนินการสำรวจอนามัยโพล เรื่อง “การเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม” เพื่อให้ได้ข้อมูลความคิดเห็นความกังวลและการเตรียมพร้อมของประชาชนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจากภัยน้ำท่วม โดยสำรวจระหว่างวันที่ 27 – 28 สิงหาคม 2567 มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 145 คน สรุปผลได้ดังนี้

1. ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 พบว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่ มีความกังวลในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ร้อยละ 69.7 รองลงมาคือ กังวลในระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 22.7 อย่างไรก็ตามมีผู้ที่ตอบว่าไม่กังวลเลย ที่ร้อยละ 7.6

 

2) ประเด็นที่มีผู้ตอบว่ากังวลมากที่สุดเวลาเกิดน้ำท่วม 3 อันดับแรก ได้แก่ ประเด็นบ้านพัง ข้าวของเสียหาย ร้อยละ 57.2 รองลงมาคือ ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำกิน ร้อยละ 56.5 และประเด็นเดินทางลำบาก ไปไหนไม่ได้ และประเด็นไม่มีที่อยู่ ไม่มีไฟฟ้าใช้ เท่ากันที่ร้อยละ 54 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามประเด็นอุบัติเหตุ เจ็บป่วยหรือเสียชีวิต เป็นประเด็นที่ผู้ตอบว่ากังวลเพียงร้อยละ 35.2

3) การเตรียมตัวรับมือน้ำท่วม พบว่า 3 อันดับแรก ที่ผู้ตอบส่วนใหญ่ได้มีการเตรียมตัวก่อนน้ำท่วม ได้แก่ การติดตามระดับน้ำ ฟังข่าวทุกวัน ร้อยละ 83 รองลงมาคือ การเตรียมสำรองน้ำสะอาด/อาหารแห้ง ร้อยละ 27 และการเก็บของขึ้นที่สูง หรือมีถุงทรายกั้นรอบบ้าน ร้อยละ 25 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามมีผู้ตอบที่ยังไม่ได้เตรียมอะไรเลย ยังไม่เกิดน้ำท่วม ที่ร้อยละ 23

สรุปผลและข้อเสนอแนะ

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ และคาดการณ์ว่าในช่วงเวลาที่จะถึงนี้ (28 ส.ค. – 3 ก.ย.67) ประเทศไทยจะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และอาจมีฝนตกหนักถึงหนักมากได้ในบางแห่ง ส่งผลให้ปัญหาน้ำท่วมฉับพลันและท่วมขังยาวนานในหลายพื้นที่ ซึ่งจากผลอนามัยโพลพบว่าประชาชนมีความกังวลในระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 22.7 มี โดยเรื่องที่กังวล ได้แก่ บ้านพัง ข้าวของเสียหาย, ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำกิน, และเดินทางลำบาก ไปไหนไม่ได้ รวมทั้งประเด็นไม่มีที่อยู่ ไม่มีไฟฟ้าใช้ ตามลำดับ
สำหรับการเตรียมการเพื่อรับมือน้ำท่วม พบว่าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) มีการติดตามระดับน้ำ ฟังข่าวทุกวัน แต่อย่างไรก็ตามจากการประเมินระดับความพร้อมของประชาชนในการรับมือน้ำท่วม แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลในประเด็นบ้านพัง ข้าวของเสียหาย ร้อยละ 57 แต่กลับมีการเตรียมเก็บของขึ้นที่สูง หรือมีถุงทรายกั้นรอบบ้าน เพียงร้อยละ 26 และจากที่กังวลว่าไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำกิน ร้อยละ 56 แต่กลับมีการเตรียมสำรองน้ำสะอาด/อาหารแห้ง เพียงร้อยละ 27 ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

  1. เพื่อลดความกังวลของประชาชนต่อสถานการณ์น้ำท่วม เสนอให้ทีม SEhRT ส่วนกลางกรมอนามัย และศูนย์อนามัยในพื้นที่คาดว่าจะเสี่ยงภัยน้ำท่วม
    1. วางแผนการรับมือน้ำท่วมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นที่ประชาชนมีความกังวลได้แก่ การป้องกันและลดความเสียหายต่อทรัพย์สินบ้านเรือนและสุขภาพ การสำรองอาหารและน้ำสะอาดไว้ใช้ รวมถึงชี้แจงล่วงหน้าถึงแนวทางการเดินทางและอพยพอย่างปลอดภัยเมื่อเกิดน้ำท่วม เป็นต้น
    2. สื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์น้ำท่วมล่วงหน้า และแจ้งความก้าวหน้า/ผลการดำเนินงานในการเตรียมความพร้อมเป็นระยะ เพื่อลดความกังวลของประชาชน
  2. เพื่อให้ประชาชนมีการเตรียมพร้อมรับมือต่อสถานการณ์น้ำท่วมได้ทันต่อสถานการณ์ เสนอให้ทีม SEhRT ส่วนกลางกรมอนามัย และศูนย์อนามัยในพื้นที่คาดว่าจะเสี่ยงภัยน้ำท่วม กำหนดกลุ่มเป้าหมายสำหรับการให้ความรู้และความช่วยเหลือ มีการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในประเด็นที่ควรมีการเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น ได้แก่ วิธีการเตรียมสำรองน้ำสะอาด/อาหารแห้ง วิธีป้องกันบ้านและทรัพย์สินจากน้ำท่วม รวมทั้งแนะนำให้ติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำท่วมทุกวันจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมแนะนำช่องทางการรับข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมและคำเตือนภัยต่าง ๆ

 

  Writer
 
  สุนิสา มะลิวัลย์

 

  Editor 
 
  ภัทราภรณ์ พวงศรี

 

  Executive Editor
 
  เบญจวรรณ ธวัชสุภา

 

  Data Developer
 
  สุธาสินี จันส่ง

 

  Content Creater & Web Design
 
  วิษณุ ศรีวิไล
 

มนุษย์ผู้เชื่อวันพีซมีจริง

 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน