คุณกำลังมองหาอะไร?

ภา

ภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุไทย ในอนาคตอีก 20 ปี : อนามัยพยากรณ์

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

05.09.2567
2519
0
แชร์
05
กันยายน
2567

สุนิษา มะลิวัลย์

 

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกินกว่าร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2564 และคาดว่าในปี 2578 จะมีผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้พบว่าผู้สูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มติดบ้านและติดเตียง กำลังเผชิญปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะสมองเสื่อม และการหกล้ม ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะและทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในการดูแลรักษาสุขภาพผู้สูงอายุจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลจำนวนผู้สูงอายุล่วงหน้าโดยเฉพาะกลุ่มภาวะพึ่งพิง (กลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียง) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลและลดการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางกองพยากรณ์สุขภาพ กรมอนามัย จึงดำเนินการพัฒนาแบบจำลองทางสถิติเพื่อพยากรณ์สุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อคาดการณ์การมีภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุของประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้า โดยใช้ข้อมูลการประเมินความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (ADL) จากฐานข้อมูล Blue Book ของสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2564- พ.ค. 2567 มีข้อมูลผู้สูงอายุจำนวน 1,491,881 ราย มาวิเคราะห์สัดส่วนการมีภาวะพึ่งพิง และพยากรณ์ภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุ ใน 20 ปีข้างหน้าของประเทศไทย สรุปดังนี้

1. สถานการณ์การมีภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุของประเทศไทย จากการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา พบว่า ในปี 2565 ถึง 2567 สัดส่วนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยทั้งในเพศชายและเพศหญิง โดย
- กลุ่มติดบ้าน เพศชายเพิ่มจากร้อยละ 2.2 เป็น 2.5 และเพศหญิงเพิ่มจากร้อยละ 3.2 เป็น 3.5
- กลุ่มติดเตียง เพศชายเพิ่มจากร้อยละ 0.8 เป็น 0.9 และเพศหญิงเพิ่มจากร้อยละ 1.0 เป็น 1.2

2. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ
เมื่อวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีภาวะพึ่งพิง โดยใช้สมการถดถอยเชิงพหุคูณแบบ Multinomial Logistic Regression พบว่า อายุ เพศ เขตสุขภาพ ฝุ่น PM2.5 การมีกิจกรรมทางกาย การกินผักผลไม้ การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การนอนหลับ ซึมเศร้า และสุขภาพช่องปาก เป็นปัจจัยทำนายภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ กล่าวคือ พฤติกรรมการกินผักผลไม้ที่เพียงพอ การไม่สูบบุหรี่ การลดการดื่มแอลกอฮอล์ การนอนหลับที่เพียงพอ รวมทั้งการไม่มีปัญหาสุขภาพจิต และมีสุขลักษณะอนามัยช่องปากที่ดี มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้สูงอายุในกลุ่มติดสังคมมากกว่ากลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียง

3. ผลการคาดประมาณจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ใน 20 ปีข้างหน้า
การวิเคราะห์คาดประมาณจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงใน 20 ปีข้างหน้า ในภาพรวมของประเทศจำแนกตามเพศและกลุ่มอายุ มาจากการใช้ค่าคาดประมาณความชุกของการมีภาวะพึ่งพิงจำแนกตามเพศและกลุ่มอายุ (ที่ได้จากค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยของสมการพหุคูณของปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีภาวะพึ่งพิงแต่ละตัวมาสร้างสมการพยากรณ์การมีภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ) นำมาคูณกับค่าคาดประมาณจำนวนประชากร (Population projection) จนถึงปี 2583 ที่คาดการณ์โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีแนวโน้มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงเพิ่มขึ้น ดังนี้

• ผู้สูงอายุติดบ้าน
- เพศชายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 18,000 รายในปี 2564 เป็น 94,000 รายในปี 2583
- เพศหญิงคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 58,000 รายในปี 2564 เป็น 210,000 รายในปี 2583
• ผู้สูงอายุติดเตียง
- เพศชายคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 81,000 รายในปี 2564 เป็น 370,000 รายในปี 2583
- เพศหญิงคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 18,000 ราย เป็น 211,000 รายในปี 2583

ถึงแม้ว่า ค่าคาดประมาณความชุกของการมีภาวะพึ่งพิง ตั้งแต่ปี 2564 – 2583 จะเพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 5 ทุก 5 ปี แต่เมื่อนำไปคำนวณรวมกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในประเทศไทย เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 4 ถึง 5 เท่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ดังรูป

รูปคาดประมาณจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ปี 2564 - 2583

นอกจากนี้ การศึกษานี้สามารถแสดงผลการคาดประมาณจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ใน 20 ปีข้างหน้า (ปี 2564 – 2583) แยกรายเพศและรายจังหวัดได้ โดยกลุ่มติดบ้านแสดงดังรูปที่ 3 และกลุ่มติดเตียงแสดงดังรูปที่ 4 ซึ่งสามารถนำข้อมูลการพยากรณ์สุขภาพผู้สูงอายุรายจังหวัดนี้ ไปใช้เพื่อการวางแผน และการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านการป้องกัน และลดการเจ็บป่วยและปัญหาด้านสุขภาพ ในอนาคตได้ต่อไป

 

 

ข้อเสนอ

1. การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของข้อมูลที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดเก็บมาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในการเฝ้าระวังทางสุขภาพของผู้สูงอายุได้ โดยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการพยากรณ์สุขภาพผู้สูงอายุ คือ การมีพฤติกรรมพึงประสงค์อันเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ (Modifiable risk factors) และสามารถใช้ข้อมูลนี้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการส่งเสริมป้องกันโรคโดยเฉพาะในกลุ่มวัยก่อนผู้สูงอายุ (Pre-elderly)
2. การพัฒนาระบบฐานข้อมูล Blue book ให้มีระบบการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ครอบคลุมและใช้พยากรณ์สุขภาพผู้สูงอายุได้แม่นยำขึ้น โดยควรมีการขยายการรวบรวมข้อมูลไปกลุ่มผู้ที่มีอายุก่อนเข้าวัยสูงอายุ เช่น อายุ 45 ปีขึ้นไป เนื่องจาก โรคไม่ติดต่อเรื้อรังส่วนใหญ่มีระยะเวลาการเกิดโรคหรือแสดงอาการนาน เกินกว่า 10 ปี เช่น โรคมะเร็ง หรือ โรคหัวใจและหลอดเลือด
3. การศึกษานี้เป็นการพยากรณ์สุขภาพผู้สูงอายุ จากตัวแปรเพียงด้านเดียว คือปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (ADL) ดังนั้นในการศึกษาต่อไป ควรเพิ่มเติมประเด็นสุขภาพของผู้สูงอายุในด้านอื่นๆ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงทำนายสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังต่าง ๆ พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ และการมีมาตรการด้านการดูแลรักษาสุขภาพผู้สูงอายุในมิติอื่นๆ รวมทั้ง ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สิ่งแวดล้อมภายในบ้าน และชุมชน เป็นต้น

 

 

  Writer
 
  สุนิสา มะลิวัลย์

 

  Editor 
 
  ภัทราภรณ์ พวงศรี

 

  Executive Editor
 
  เบญจวรรณ ธวัชสุภา

 

  Data Developer
 
  สุธาสินี จันส่ง

 

  Content Creater & Web Design
 
  วิษณุ ศรีวิไล
 

มนุษย์ผู้เชื่อวันพีซมีจริง

 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน