คุณกำลังมองหาอะไร?

นาคตดวงตาจากผลกระทบของรังสียูวีในชีวิตประจำวัน : อนามัยพยากรณ์

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

16.09.2567
50
0
แชร์
16
กันยายน
2567

เบญจวรรณ ธวัชสุภา

 

รังสียูวีหรือรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet Radiation: UV Radiation) แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รังสียูวีเอ รังสียูวีบี และรังสียูวีซี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ โดยเมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ส่องผ่านชั้นบรรยากาศของโลก รังสียูวีซีทั้งหมด และประมาณร้อยละ 90 ของยูวีบี จะถูกดูดซับโดยโอโซน ไอน้ำ แก๊สออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของโลก ดังนั้นรังสียูวีที่พบมากที่สุดบนพื้นผิวโลกคือรังสียูวีเอ เนื่องจากไม่ถูกดูดซับเอาไว้ในชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้รังสียูวีที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากปริมาณชั้นโอโซนที่ถูกทำลายอันเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดรูรั่วโอโซนในชั้นบรรยากาศและทำให้ปริมาณรังสียูวีเข้าสู่ผิวโลกเพิ่มขึ้น

หากร่างกายได้รับปริมาณรังสียูวีมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ผิวหนังเป็นผื่นแดง ริ้วรอยก่อนวัย ตุ่มหนังผิดปกติจากแสงแดดซึ่งอาจกลายเป็นมะเร็งผิวหนังชนิด squamous cell carcinoma (U.S. Environmental Protection Agency, 2010) ทาง WHO คาดการณ์ว่าเมื่อปริมาณโอโซนลดลงร้อยละ 10 อาจนำไปสู่การได้รับรังสียูวีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา 300,000 ราย และมะเร็งชนิดเมลาโนมาเพิ่มขึ้น 4,500 ราย (WHO, 1995) นอกจากนี้ รังสียูวีเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับดวงตา หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยและร้ายแรงคือ โรคต้อกระจก โดยรังสียูวีไปทำลายเลนส์ของตา เมื่อเลนส์ตาได้รับรังสียูวีเป็นเวลานาน โปรตีนในเลนส์จะเสื่อมสภาพ เกิดการเปลี่ยนแปลงของเลนส์ตาขุ่นมัวขึ้นเรื่อย ๆ จนมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคต้อกระจก นอกจากนี้ รังสียูวียังมีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคอื่นๆ ของดวงตา เช่น ต้อลม ต้อเนื้อ และมะเร็งผิวหนังบริเวณเปลือกตา ได้ด้วย

สำหรับประเทศไทยอยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตร มีความเสี่ยงสูงที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากรังสียูวีตลอดทั้งปี ทางกองพยากรณ์สุขภาพ กรมอนามัย ร่วมกับกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จึงประเมินและคาดการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพจากรังสียูวีของประเทศไทย โดยใช้ข้อมูอุตุนิยมวิทยาจากแบบจำลอง MERRA-2 (The Modern-Era Retrospective analysis for Research and Applications version 2) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ที่มีความละเอียดเชิงพื้นที่ 0.5 องศา x 0.625 องศา ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยข้อมูลที่ได้จากแบบจำลอง MERRA-2 ได้นำมาปรับความละเอียดเชิงพื้นที่ใหม่โดยใช้วิธี Bilinear Interpolation ในโปรแกรม ArcGIS (เวอร์ชัน 10.8) ให้มีความละเอียดเชิงพื้นที่เท่ากับ 5 x 5 ตารางกิโลเมตร เพื่อให้ข้อมูลครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย

สถานการณ์ความเข้มของรังสียูวีของประเทศไทยในช่วงปีพ.ศ. 2560–2564
ความเข้มของรังสียูวีเอ ยูวีบี และดัชนีรังสียูวี มีค่าสูงที่สุดในช่วงกลางปี (มิถุนายน – สิงหาคม) และมีค่าต่ำสุดในช่วงฤดูหนาวของทุกปี (พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์) โดยมีความเข้มของรังสียูวีเฉลี่ยในช่วงปี 2560 – 2564 ดังนี้
- ความเข้มของรังสียูวีเอเฉลี่ย มีค่า 13.06±2.51 วัตต์ต่อตารางเมตร โดยค่าที่มากที่สุดพบที่ จ.พิจิตรซึ่งมีค่า 14.05±2.26 วัตต์ต่อตารางเมตร และค่าที่น้อยที่สุดพบที่ จ.ลำพูน 11.91±2.40 วัตต์ต่อตารางเมตร
- ความเข้มของรังสียูวีบีเฉลี่ย มีค่า 0.38±0.08 วัตต์ต่อตารางเมตร โดยค่าเฉลี่ยที่มากที่สุดพบที่ จ.พัทลุง 0.41±0.09 วัตต์ต่อตารางเมตร และค่าที่น้อยที่สุดพบที่ จ.บึงกาฬ 0.34±0.08 วัตต์ต่อตารางเมตร
- ดัชนีรังสียูวีเฉลี่ยของประเทศไทยมีค่า 1.98±0.42 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยที่มากที่สุดใน จ.พัทลุง 2.13±0.49 และค่าน้อยที่สุดใน จ.บึงกาฬ 1.76±0.44

 

รูปที่ 1 ค่าเฉลี่ยของปริมาณรังสียูวีเอ (A) รังสียูวีบี (B) และดัชนีรังสียูวี (C) รายจังหวัดในประเทศไทย
ในปี พ.ศ.2560–2564

 

ความสัมพันธ์ระหว่างการรับสัมผัสรังสียูวีกับความเสี่ยงต่อการเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยโรคต้อกระจก

สำหรับข้อมูลผู้ป่วยโรคต้อกระจก (ICD-10: H25 – H28) เป็นข้อมูลจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) รายวันของแต่ละจังหวัดของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2560 – 2564 จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างการรับสัมผัสรังสียูวีกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ ด้วยรูปแบบการศึกษาแบบ Time Stratified Case-crossover Design โดยใช้สมการ Conditional Poisson Model โดยเปรียบเทียบการรับสัมผัสรังสียูวีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยโรคต้อกระจกกับช่วงเวลาที่ยังไม่ได้รับการรักษาในแต่ละบุคคล ซึ่งมีการควบคุมตัวแปรกวนของแต่ละบุคคลโดยอัตโนมัติ และค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์สามารถคำนวณได้จากการเปรียบเทียบปริมาณการรับสัมผัสรังสียูวีในช่วงเวลาที่เข้ารับการรักษาพยาบาลกับช่วงเวลาที่ยังไม่เข้ารับการรักษา

โดยพบว่า การป่วยเป็นโรคต้อกระจกมีความสัมพันธ์กับการรับสัมผัสรังสียูวีของประเทศไทย (ทั้งยูวีเอ ยูวีบี และดัชนีรังสียูวี) โดยมีรูปแบบเป็นรูปคล้ายตัวยู (U-shaped) กล่าวคือความเข้มของรังสียูวีทั้งน้อยเกินไปและมากเกินไป จะมีความเสี่ยงต่อการเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยโรคต้อกระจกเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีค่ามากที่สุดที่ Lag 0-21 วัน ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงต่อการเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยโรคต้อกระจกจะพบตั้งแต่วันที่มีการรับสัมผัสรังวียูวีจนกระทั่งหลังจากการรับสัมผัสเป็นระยะเวลา 21 วัน โดยมีค่า Centering Point (Threshold Level) ที่แตกต่างกันสำหรับ ยูวีเอ ยูวีบี และดัชนีรังสียูวี ซึ่งค่าดังกล่าวเป็นค่าที่แสดงถึงความเสี่ยงที่น้อยที่สุดต่อการเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยโรคต้อกระจก ดังนั้นเมื่อรับสัมผัสความเข้มของรังสียูวีที่มากกว่าหรือน้อยกว่าค่าดังกล่าวสำหรับแต่ละตัวแปร (ยูวีเอ ยูวีบี และดัชนีรังสียูวี) จะพบว่าความเสี่ยงต่อการเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยโรคต้อกระจกมีค่าเพิ่มมากขึ้น ดังภาพที่ 2 โดยเส้นประสีเทาในแต่ละกราฟแสดงถึงค่าของแต่ละตัวแปรที่ตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ที่ 1, เปอร์เซ็นไทล์ที่ 10, Centering Point (ตัวอักษรสีน้ำเงิน), เปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 และเปอร์เซ็นไทล์ที่ 99 ตามลำดับ

 

รูปที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มของรังสียูวีเอ ยูวีบี และดัชนีรังสียูวี กับการป่วยด้วยโรคต้อกระจกในประเทศไทย

 

ตารางที่ 1 ความเสี่ยงสัมพัทธ์ของการเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยโรคต้อกระจกจากความเข้มของรังสียูวี (ยูวีเอ ยูวีบี และดัชนีรังสียูวี) ในประเทศไทยที่ระดับความเข้มต่าง ๆ

เปอร์เซ็นไทล์ที่

ความเข้มยูวี

ความเสี่ยงสัมพัทธ์

ช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95

ค่าต่ำสุด

ค่าสูงสุด

ยูวีเอ Lag 0-21 (Centering Point 12.7 วัตต์ต่อตารางเมตร)

1

5.98

1.2459

1.0687

1.4525

10

9.9

1.1389

1.0028

1.2935

90

16.04

1.151

1.0567

1.2537

99

17.81

1.1937

1.0998

1.2956

ยูวีบี Lag 0-21 (Centering Point 0.31 วัตต์ต่อตารางเมตร)

1

0.17

1.3785

1.0904

1.7427

10

0.28

1.0218

0.9941

1.0504

90

0.48

1.0914

0.9936

1.1989

99

0.53

1.1445

1.0561

1.2403

ดัชนีรังสียูวี Lag 0-21 (Centering Point 1.74 (ไม่มีหน่วย))

1

0.90

1.2749

1.0402

1.5625

10

1.47

1.0309

0.9845

1.0794

90

2.50

1.0501

0.967

1.1402

99

2.82

1.1027

1.0258

1.1853

 

จากตารางที่ 1 ยกตัวอย่างการสรุปผลของดัชนีรังสียูวี หากมีความเข้มของดัชนีรังสียูวีที่ 0.90 (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 1) พบว่าความเสี่ยงของการเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยโรคต้อกระจกจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 1.27 เท่า (95% CI: 1.04, 1.56) เมื่อเปรียบเทียบกับที่ดัชนีความเข้ม 1.74 (ที่ Centering Point /Threshold level ของดัชนีรังสียูวีในรูปที่ 2) นอกจากนี้เมื่อดัชนีรังสียูวีมีค่า 1.47 (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 10) 2.50 (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 90) และ 2.82 (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 99) ความเสี่ยงของการเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยโรคต้อกระจกเพิ่มมากขึ้นเป็น 1.03, 1.05 และ 1.10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับความเข้มดัชนีรังสียูวีที่ 1.74 ตามลำดับ (ตารางที่ 1)

 

ข้อเสนอแนะ

1) ควรมีการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากรังสียูวี ในรูปของความเข้มของรังสียูวีเอ รังสียูวีบี หรือดัชนความเข้มของรังสียูวี ให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการได้รับรังสียูวีที่มากเกินไป โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง รวมถึงนักท่องเที่ยว เป็นต้น อันจะนำไปสู่การลดการเกิดโรคต้อกระจกที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสรังสียูวีได้

2)  ควรมีระบบแจ้งเตือนภัยและสื่อสารความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสรังสียูวีสำหรับประเทศไทย เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากรังสียูวีตลอดทั้งปี   โดยนำข้อมูลความเข้มของรังสียูวีที่ได้มาประเมินระดับความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคต้อกระจก โดยอาศัยรูปแบบความสัมพันธ์ (Concentration-response Relationship) ที่ได้จากการศึกษานี้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะสามารถบ่งบอกระดับความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการป่วยด้วยโรคต้อกระจก ที่สามารถนำไปใช้ในการสื่อสารเตือนภัยต่อสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยงจากการรับสัมผัสรังสียูวีได้

 

เอกสารอ้างอิง

Choosri P, Nabnean S, Kanchanachat W, Teansri S (2021) Development of a model and forecasting of hourly UV index using Artificial Neural Network (ANN) at Songkhla. RMUTP Res J 15(2): 75–87. https://doi.org/10.14456/jrmutp.2021.23

McKenzie R, Smale D, Kotkamp M (2004) Relationship between UVB and erythemally weighted radiation. Photochem Photobiol Sci 3(3): 252–256. https://doi.org/10.1039/b312985c

U.S. Environmental Protection Agency (2010) Health effects of overexposure to the sun. https://doi.org/EPA 430-F-10-026

World Health Organization (1995) Health and environmental effect of UV radiation. Retrieved February 7, 2023, from https://www.who.int/publications/i/item/who-ehg-95.16

 

  Writter & Executive Editor
 
  เบญจวรรณ ธวัชสุภา

 

  Content Creater & Graphic Designer
 
  วิษณุ ศรีวิไล
 

มนุษย์ผู้เชื่อวันพีซมีจริง

 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน