คุณกำลังมองหาอะไร?

รคอาหารเป็นพิษ กับปริมาณน้ำฝนและภาวะน้ำท่วม : อนามัยพยากรณ์

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

23.09.2567
100
0
แชร์
23
กันยายน
2567

สุธาสินี จันส่ง

 

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเริ่มต้นฤดูฝน เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 67
เป็นต้นมา ประเทศไทยเผชิญมรสุมที่พัดผ่านประเทศและหย่อมความกดอากาศต่ำจากประเทศเพื่อนบ้าน และพายุยางิ ทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ท่วมซ้ำซากบริเวณลุ่มแม่น้ำยม เช่น จ.แพร่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก เชียงราย เชียงใหม่ และหนองคาย เป็นต้น จากภาพถ่ายดาวเทียม GISDA 30 วันย้อนหลัง (23 ส.ค. – 23 ก.ย.67) เผยให้เห็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จ.เชียงราย สุโขทัย พิจิตร นครพนม และ หนองคาย รวมพื้นที่ที่ได้รับน้ำท่วมทั้งหมด 2.15 ล้านไร่ ประชากรที่ได้รับผลกระทบ 1.15 ล้านคน 327,352 หลังคาเรือน ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 ภาพถ่ายดาวเทียม GISDA แสดงพื้นที่น้ำท่วม 5 อันดับแรกของประเทศไทย (23 ส.ค. – 23 ก.ย.67)
ที่มา : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) :GISTDA

 

เหตุการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ประสบภัย ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัย ขาดปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีพ เช่น อาหารและน้ำสะอาด ห้องน้ำ และห้องส้วมที่สะอาด รวมถึงสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุขและการระบาดของโรคติดต่อทั้งในภาวะน้ำท่วมขังและหลังน้ำลดได้ โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษ เนื่องด้วยอาหารส่วนใหญ่ที่ประชาชนได้รับแจกช่วงน้ำท่วมมักเป็นอาหารกระป๋อง อาหารแห้ง หรือแม้กระทั่งอาหารปรุงสุกที่อาจกลายเป็นอาหารค้างคืนได้ ประชาชนจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับการปนเปื้อนเชื้อโรคจากการกินอาหารได้ง่าย ดังตัวอย่าง สถานการณ์น้ำท่วมใน เขตสหภาพเนปิดอว์ ประเทศเมียนม่าร์ ที่พบการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เกิดจากการรับประทานอาหารที่ได้รับบริจาค ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นเด็ก และผู้สูงอายุ ที่เป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยและชาวบ้านที่ถูกอพยพออกจากบ้าน ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 100 ราย สำหรับประเทศไทย กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รายงานสถานการณ์เฝ้าระวังโรคติดต่อในช่วงอุทกภัย รายจังหวัด (ข้อมูล 18 ส.ค. – 14 ก.ย. 67) พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ เฉพาะพื้นที่ที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ดังรูปที่ 2

รูปที่ 2 สถานการณ์การเฝ?าระวังโรคติดต่อในช่วงอุทกภัย รายจังหวัด (ข้อมูล 18 ส.ค. – 14 ก.ย. 67)
ที่มา : กลุ?มพัฒนาระบบเฝ?าระวังทางระบาดวิทยาโรคติดต?อ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว กองพยากรณ์สุขภาพ กรมอนามัย ได้วิเคราะห์สถานการณ์การเกิดโรคอาหารเป็นพิษ โดยใช้ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2556 - 2567) ในภาพรวมประเทศ มักพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจำนวนมากในเดือนมกราคมของทุกปี และเพิ่มขึ้นอีกครั้งเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม ซึ่งตรงกับช่วงฤดูฝนของไทย ดังรูปที่ 3 กองพยากรณ์สุขภาพ กรมอนามัย จึงได้พยากรณ์แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษโดยใช้ข้อมูลปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายเดือนเป็นปัจจัยภายนอก (Exogenous Variable) ในการทำนาย ด้วยวิธีอนุกรมเวลา SARIMAX (Seasonal Autoregressive Integrated Moving Average with Exogenous Factors : SARIMAX) (รายละเอียดดังเอกสารแนบ)

 

รูปที่ 3 สถานการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จำแนกรายเดือน ตั้งแต่ปี 2556 – 2567

 

โดยพบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจะมีแนวโน้มลดลงในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยเฉพาะเดือนมกราคม 2568 ที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงสุดถึง 13,900 ราย ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาดังรูปที่ 4

รูปที่ 4 แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษและปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ปี 2567 และการพยากรณ์โรคปี 2568

 

ทั้งนี้ การศึกษานี้เป็นเพียงการคาดการณ์จากปัจจัยปริมาณน้ำฝนเท่านั้น อาจมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พื้นที่ความเสียหายจากน้ำท่วม พฤติกรรมของประชาชน เป็นต้น โดยการศึกษานี้ คาดว่ายอดผู้ป่วยจากการทำนายโรคอาหารเป็นพิษจะมีแนวโน้มลดลง ตามการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนที่ลดลง แต่ก็ยังพบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในต้นปี 2568 ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นดังกล่าว จึงมีข้อเสนอสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการล่วงหน้าดังนี้
• รณรงค์ให้ความรู้: จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขอนามัยและสุขาภิบาลอาหารแก่ประชาชน
• เตรียมความพร้อมของระบบสาธารณสุข: เพิ่มความพร้อมของโรงพยาบาลและสถานพยาบาลในการรับมือกับผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ
• เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบแหล่งผลิตอาหาร: ตรวจสอบความสะอาดของโรงงานผลิตอาหาร ร้านอาหาร และแหล่งจำหน่ายอาหารต่างๆ
• ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด: ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคอาหารเป็นพิษอย่างต่อเนื่อง และปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์

เนื่องจากยังคงมีปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ สำหรับประชาชนที่ยังคงประสบภัยน้ำท่วมและพื้นที่ที่น้ำลดแล้ว รวมถึงประชาชนทั่วไป มีคำแนะนำในการปฏิบัติตน ดังนี้

คำแนะนำสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมและพื้นที่ที่น้ำลดแล้ว
ทำความสะอาดแหล่งน้ำ: ก่อนนำน้ำมาใช้ ควรกรองและต้มให้เดือด
• ทิ้งอาหารที่เสีย: อาหารที่สัมผัสน้ำท่วม ควรทิ้งทันที
• ทำความสะอาดบ้านเรือน: ทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาด โดยเฉพาะบริเวณที่สัมผัสน้ำท่วม
• ระวังสัตว์นำโรค: หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ป่าที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค
• หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือปวดท้อง ควรรีบปรึกษาแพทย์

คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป
• เลือกวัตถุดิบสดใหม่ สะอาด ควรสังเกตวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์
• ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก และสัตว์น้ำ
• แยกอาหารดิบและสุก โดยใช้ภาชนะและอุปกรณ์ในการปรุงอาหารแยกกัน
• ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
• หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่มีกลิ่นผิดปกติ
• ดื่มน้ำสะอาดที่ผ่านการต้ม หรือน้ำบรรจุขวดที่มีฉลาก อย.
• ล้างภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการปรุงอาหารให้สะอาด

 

อ้างอิง

Thai Meteorological Department. (n.d.). Thai Meteorological Department. Retrieved September 27, 2024, from https://www.tmd.go.th/

Geo-Informatics and Space Technology Development Agency. (n.d.). Disaster Information System. Retrieved September 27, 2024, from https://disaster.gistda.or.th/

Myanmar Now. (2024, September 16). More than 100 fall ill with food poisoning amid flooding near Myanmar capital. Retrieved September 27, 2024, from https://myanmar-now.org/en/news/more-than-100-fall-ill-with-food-poisoning-amid-flooding-near-myanmar-capital/

Department of Disease Control. (2024). สถานการณ์โรคช่วงน้ำท่วม [Flood disease situation] (PDF). Retrieved September 27, 2024, from https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor2/files/3_สถานการณ์โรคช่วงน้ำท่วม%2017%20Sep.pdf

 

 

  Writer & Dev
 
  สุธาสินี จันส่ง

 

  Executive Editor
 
  เบญจวรรณ ธวัชสุภา

 

  Content Creater & Web Design
 
  วิษณุ ศรีวิไล
 

มนุษย์ผู้เชื่อวันพีซมีจริง

 

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

ตัวแบบพยากรณ์การเกิดโรคอาหารเป็นพิษของประเทศไทย.pdf
ขนาดไฟล์ 91KB
ดาวน์โหลด 6 ครั้ง
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน