คุณกำลังมองหาอะไร?

ฤติกรรมการบริโภคและทัศนคติต่อน้ำดื่มของประชาชนไทย : อนามัยพยากรณ์

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

14.05.2568
15
1
แชร์
14
พ.ค.
2568

สุนิษา มะลิวัลย์

 

        น้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัยเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพของประชาชน โดยการเข้าถึงแหล่งน้ำดื่มที่มีคุณภาพไม่เพียงสะท้อนถึงความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค แต่ยังสะท้อนถึงการรับรู้และความเชื่อมั่นของประชาชนต่อมาตรฐานของภาครัฐ ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้พฤติกรรมการเลือกใช้น้ำดื่มและทัศนคติต่อน้ำประปาเป็นประเด็นที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด กรมอนามัยจึงได้จัดทำรายงานพยากรณ์เรื่อง “พฤติกรรมการบริโภคและทัศนคติต่อน้ำดื่มของประชาชนไทย” โดยเก็บข้อมูลผ่าน อนามัยโพล ระหว่างวันที่ 1–28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 จากกลุ่มตัวอย่าง 753 คน เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเลือกแหล่งน้ำดื่มและความคิดเห็นเกี่ยวกับน้ำประปาดื่มได้ จำแนกตามพื้นที่ที่อยู่อาศัยใน 3 กลุ่ม ได้แก่

  • พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ (มีผู้ตอบ 262 คน คิดเป็นร้อยละ 34.8)
  • พื้นที่เขตเมือง ได้แก่ พื้นที่เทศบาลนคร เทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล (มีผู้ตอบ 314 คน คิดเป็นร้อยละ 41.7)
  • พื้นที่เขตนอกเมือง ได้แก่ พื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล (มีผู้ตอบ 177 คน คิดเป็นร้อยละ 23.51)

การวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย การวิเคราะห์เชิงพรรณนา เพื่อดูแนวโน้มแหล่งน้ำที่ใช้และความคิดเห็นที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่ และการวิเคราะห์เชิงอนุมาน โดยใช้ Chi-square test เพื่อทดสอบความแตกต่างทางสถิติระหว่างแหล่งที่อยู่อาศัยกับพฤติกรรมและทัศนคติที่มีต่อน้ำประปาดื่มได้ สรุปดังนี้

 พฤติกรรมการบริโภคน้ำตามประเภทแหล่งน้ำดื่มแยกตามพื้นที่

แหล่งน้ำดื่มที่ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่นิยมใช้ 3 อันดับแรก ได้แก่ น้ำบรรจุขวดปิดสนิท ร้อยละ 63.6 รองลงมา คือ น้ำประปาผ่านเครื่องกรองในบ้าน ร้อยละ 33.9 น้ำบรรจุถัง 20 ลิตร ร้อยละ 20.9 ตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์และความสัมพันธ์ระหว่างประเภทแหล่งน้ำดื่มที่ใช้กับพื้นที่อยู่อาศัย พบว่า ผู้ที่ตอบว่าใช้ น้ำบรรจุขวดปิดสนิท น้ำประปาผ่านเครื่องกรองในบ้าน น้ำบรรจุถัง 20 ลิตร ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และน้ำฝน มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value < 0.01)  โดย

       - น้ำบรรจุขวดปิดสนิท นิยมใช้ในพื้นที่เขตเมือง ที่ร้อยละ  74.2

       - น้ำประปาผ่านเครื่องกรองในบ้าน นิยมใช้ในพื้นที่กรุงเทพ ฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ที่ร้อยละ 46.9

       - น้ำบรรจุถัง 20 ลิตร นิยมใช้ในพื้นที่เขตนอกเมือง และเขตเมือง ที่ร้อยละ 30.5 และ 25.5 ตามลำดับ

       - น้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ นิยมใช้ในพื้นที่เขตนอกเมือง ที่ร้อยละ 14.7

       - น้ำฝน นิยมใช้ในพื้นที่เขตนอกเมือง ร้อยละ 4.5 และเขตเมืองร้อยละ 3.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พบว่าไม่มีผู้ที่ตอบว่าใช้น้ำฝนเลย

ความคิดเห็นเกี่ยวกับน้ำประปาดื่มได้แยกตามพื้นที่

           ผู้ตอบส่วนใหญ่ คิดว่า “น้ำประปาดื่มได้” เป็นเรื่องไม่จริง ร้อยละ 51 และมีผู้ที่คิดว่าน้ำประปาดื่มได้จริง ที่ร้อยละ 41.6 อย่างไรก็ตามมีผู้ที่ไม่ทราบมาก่อนว่าน้ำประปาดื่มได้ ร้อยละ 7.4 เมื่อวิเคราะห์แยกตามพื้นที่ พบว่าผู้ที่คิดว่าน้ำประปาดื่มได้มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value < 0.01) โดยผู้ที่คิดว่าน้ำประปาดื่มได้ เป็นเรื่องไม่จริง นั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ ร้อยละ 68.7 ในขณะที่ผู้ที่คิดว่า “น้ำประปาดื่มได้จริง” ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในเขตเมือง ร้อยละ 52.9และผู้ที่ไม่ทราบมาก่อนว่าน้ำประปาดื่มได้ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นอกเมือง ร้อยละ 11.3

ผู้ตอบที่มีความคิดเห็นว่า “น้ำประปาดื่มได้จริง” (313 คน) ให้เหตุผลว่าน้ำประปาดื่มได้เพราะเชื่อมั่นในระบบการผลิตน้ำประปาที่ได้มาตรฐาน ที่ร้อยละ 74.6 รองลงมาคือ ได้รับการการันตีจากกรมอนามัย ร้อยละ 37.3รวมทั้งมีคุณภาพการทำงานของผู้ผลิต และสะอาดดื่มได้ปลอดภัยจากสารเคมี ร้อยละ 13.8 ตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์แยกตามพื้นที่ พบว่าผู้ที่คิดว่า “น้ำประปาดื่มได้จริง” เพราะได้รับการการันตีจากกรมอนามัย มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value < 0.01)  โดยพบว่า ผู้ที่เชื่อมั่นเพราะได้รับการการันตีจากกรมอนามัย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตเมือง คิดเป็นร้อยละ 49.7

           สำหรับความกังวลเกี่ยวกับน้ำประปา พบว่า 3 ประเด็นแรกที่พบมากที่สุด คือ ความสะอาดของสถานที่ผลิต (แหล่งผลิต/ผู้ผลิต และน้ำที่ใช้ผลิต) ร้อยละ 61.9 รองลงมาคือ ระบบการผลิตไม่ได้ตามมาตรฐาน ร้อยละ 44.5 และน้ำประปา/น้ำดื่ม ขาดแคลนในฤดูแล้ง ร้อยละ 31.2 อย่างไรก็ตามมีผู้ที่ไม่กังวลเกี่ยวกับน้ำประปา ร้อยละ 3.9 เมื่อวิเคราะห์แยกตามพื้นที่ พบว่าประเด็นความกังวลเกี่ยวกับน้ำประปามีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value < 0.01) โดยพบว่าน้ำประปา/น้ำดื่ม ขาดแคลนในฤดูแล้ง เป็นประเด็นที่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เขตเมือง และเขตนอกเมือง มีความกังวลมากที่สุด ที่ร้อยละ 38.8 และ 32.2 ตามลำดับ ในขณะที่เหตุผลที่คิดว่า “น้ำประปาดื่มไม่ได้” เป็นประเด็นที่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีความกังวลมากที่สุด ที่ร้อยละ 43.1 สำหรับผู้ที่ตอบว่าไม่กังวลเกี่ยวกับน้ำประปาส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่เขตนอกเมือง และเขตเมือง ที่ร้อยละ 6.8 และร้อยละ 4.8 ตามลำดับ

สรุปผลและข้อเสนอแนะ

          รายงานอนามัยพยากรณ์ เรื่อง “พฤติกรรมการบริโภคและทัศนคติต่อน้ำดื่มของประชาชนไทย” โดยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่จากผลอนามัยโพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่นิยมบริโภคน้ำบรรจุขวดปิดสนิท ร้อยละ 63.6 รองลงมาคือน้ำประปาผ่านเครื่องกรอง และน้ำบรรจุถัง 20 ลิตร โดยมีความแตกต่างของแหล่งน้ำดื่มที่ใช้ตามพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่น พื้นที่กรุงเทพ ฯ นนทบุรี และสมุทรปราการนิยมใช้น้ำประปาผ่านเครื่องกรองในบ้าน เขตเมืองนิยมใช้น้ำบรรจุขวด ในขณะที่พื้นที่นอกเมืองยังมีการใช้น้ำฝนและตู้น้ำหยอดเหรียญ

         ด้านทัศนคติ พบว่าเกินครึ่ง (ร้อยละ 51) ไม่เชื่อว่าน้ำประปาดื่มได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 41.6 เชื่อว่าน้ำประปาดื่มได้จริง โดยให้เหตุผลว่ามีความมั่นใจในระบบผลิตที่ได้มาตรฐาน และการรับรองจากกรมอนามัย สำหรับประเด็นความกังวล พบว่าประชาชนกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับความสะอาดของสถานที่ผลิต ระบบผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง โดยประเด็นความกังวลเหล่านี้แตกต่างกันตามพื้นที่

          โดยสรุปรายงานนี้สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของพฤติกรรมผู้บริโภค ความเชื่อมั่นและประเด็นความกังวลต่อระบบน้ำประปา โดยคาดหวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบายหรือมาตรการที่ตอบโจทย์ประชาชน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้น้ำประปาในแต่ละกลุ่มพื้นที่

ข้อเสนอแนะ

      1. ส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะเชิงรุก โดยเน้นความรู้เรื่องคุณภาพน้ำประปา มาตรฐานการผลิต และการรับรองจากหน่วยงานรัฐ ผ่านช่องทางที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น การให้ความรู้เรื่องเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้กรมอนามัย รวมทั้งนโยบาย 3C น้ำประปาหมู่บ้านสะอาด ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านให้สะอาด ได้มาตรฐาน ประกอบด้วย Clear Clean และ Chlorine  และเน้นสร้างความเชื่อมั่นต่อน้ำประปาดื่มได้โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรีและสมุทปราการ

      2. ปรับปรุงและยกระดับคุณภาพน้ำประปาในพื้นที่นอกเมือง ที่ยังมีการใช้น้ำจากแหล่งอื่น เช่น ตู้น้ำหยอดเหรียญ หรือน้ำฝน

      3. เตรียมความพร้อมรับมือฤดูแล้ง โดยการจัดการน้ำสำรองในเขตเมืองและนอกเมือง ที่พบว่ามีความกังวลต่อการขาดแคลนน้ำ

      4. ติดตามและประเมินผลเชิงพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคต

 

  Writer
 
  สุนิษา มะลิวัลย์

 

  Editor 
 
  ภัทราภรณ์ พวงศรี

 

  Executive Editor
 
  เบญจวรรณ ธวัชสุภา

 

  Content Creater & Web Design
 
  วิษณุ ศรีวิไล
 

มนุษย์ผู้เชื่อวันพีซมีจริง

 

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

อนามัยพยากรณ ผู้ที่คิดว่าน้ำประปาดื่มได้ full.pdf
ขนาดไฟล์ 141KB
ดาวน์โหลด 0 ครั้ง
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน