กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
เบญจวรรณ ธวัชสุภา
สถานการณ์มลพิษทางอากาศในช่วงต้นปี (ม.ค.–ก.พ.) ซึ่งตรงกับช่วงตรุษจีน เป็นช่วงเวลาที่มีการประกอบพิธีกรรม เช่น การจุดธูป เผากระดาษเงินกระดาษทอง และจุดประทัด ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ที่อาจกระทบต่อคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองที่มีความหนาแน่นประชากรสูง กรมอนามัยได้จัดทำรายงานฉบับนี้เพื่อสำรวจพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น และปัจจัยที่มีผลต่อการป้องกันตนเองของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 771 คน ระหว่างวันที่ 1–27 มกราคม 2568 ด้วยแบบสอบถามอนามัยโพล วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและสถิติเชิงอนุมานสรุปได้ ดังนี้
ร้อยละ 55.4 ของผู้ตอบมีแผนทำกิจกรรมในเทศกาลตรุษจีน ซึ่งกิจกรรมหลัก ได้แก่ ไหว้เจ้า/บรรพบุรุษ (ร้อยละ 37.7) อย่างไรก็ตามยังพบพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่น ได้แก่ จุดธูป ร้อยละ 13.1 เผากระดาษเงินกระดาษทอง ร้อยละ 10.4 และจุดประทัด ร้อยละ 5.0 ตามลำดับ ดังภาพที่ 1
พฤติกรรมการป้องกันตนเองที่ทำมากที่สุด ได้แก่ สวมหน้ากาก ร้อยละ 67.3 รองลงมาคือ ไม่จุดธูป/เผากระดาษ ร้อยละ 46.8 และทำความสะอาดบ้านที่พักอาศัย ร้อยละ 41.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม พบพฤติกรรมป้องกันตนเองที่ยังทำได้น้อยอยู่คือ ติดตามสถานการณ์ฝุ่น ร้อยละ 27.9 และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น ร้อยละ 0.5 ดังภาพที่ 2
การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากฝุ่น ใช้ตัวแปรพฤติกรรมการปัองกันฝุ่น 7 ข้อ มาสร้างตัวแปรใหม่ โดยหากบุคคลนั้นมีค่าเฉลี่ยของพฤติกรรมป้องกันตนเองทั้ง 7 ข้อ ได้มากกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ตอบรวมทั้งหมด จัดเป็นกลุ่มที่มีการป้องกันตัวเองที่ดี เมื่อทดสอบความสัมพันธ์เบื้องต้นด้วย Chi-square Test พบว่า อายุ พื้นที่อยู่อาศัย อาชีพ ระดับการศึกษา ภูมิภาค ประเภทธูปที่ใช้ มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันตัวเอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p-value < 0.05 จากนั้นนำมาวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการป้องกันตนเองจากฝุ่นในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยใช้ Binary และ Multivariable Logistic Regression พบว่าปัจจัยที่มีนัยสำคัญ ได้แก่ อายุ พื้นที่อยู่อาศัย อาชีพ และประเภทธูปที่ใช้
โดยพบว่า กลุ่มอายุ 25-44 ปี, 45-60 ปี และ 60 ปีขึ้นไป พบว่า มีแนวโน้มป้องกันตนเองได้ น้อยกว่าอายุ 15-24 ปี ที่ 0.18, 0.14 และ 0.19 เท่า ตามลำดับ กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ เทศบาลตำบล เทศบาลนคร เทศบาลเมืองและ อบต. มีแนวโน้มป้องกันตนเองได้มากกว่าผู้ที่อยู่ในพื้นที่เขตปกครองพิเศษ (14.55 – 19.2 เท่า) แม่บ้านและผู้เกษียณ มีแนวโน้มป้องกันตนเองจากฝุ่นได้ดีกว่าพนักงานบริษัท และผู้ที่ใช้ใช้ธูปไฟฟ้าหรือไม่จุดธูป มีแนวโน้มป้องกันตนเองได้มากกว่าผู้ที่ใช้ธูปยาวหรือธูปไร้ควัน ที่ 2.21 เท่า
บทสรุป
ในช่วงเทศกาลตรุษจีน แม้ประชาชนส่วนใหญ่มีแนวโน้มปฏิบัติกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น การไหว้เจ้าและบรรพบุรุษ แต่ยังคงมีพฤติกรรมบางประการที่อาจก่อให้เกิดฝุ่น เช่น การจุดธูป เผากระดาษเงินกระดาษทอง และจุดประทัด ในด้านการป้องกันตนเอง พบว่า ส่วนใหญ่ใช้การสวมหน้ากาก ไม่จุดธูปไม่เผา อย่างไรก็ตามพฤติกรรมป้องกันที่ยังทำได้น้อยอยู่คือ ติดตามสถานการณ์ฝุ่น และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น
ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากฝุ่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อายุ พื้นที่อยู่อาศัย อาชีพ และประเภทธูปที่ใช้ โดยกลุ่มอายุมากมีแนวโน้มป้องกันตนเองได้น้อยกว่ากลุ่มอายุน้อย ในขณะที่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เทศบาลหรือชุมชนท้องถิ่นมีแนวโน้มป้องกันตนเองได้ดีกว่าผู้ที่อยู่ในเขตปกครองพิเศษ แม่บ้านและผู้เกษียณ มีแนวโน้มป้องกันตนเองได้ดีกว่าพนักงานบริษัท และผู้ที่ใช้ใช้ธูปไฟฟ้าหรือไม่จุดธูป มีแนวโน้มป้องกันตนเองได้มากกว่าผู้ที่ใช้ธูปยาวหรือธูปไร้ควัน
ข้อเสนอแนะ
Writer | |
![]() |
|
เบญจวรรณ ธวัชสุภา |
Editor | |
![]() ![]() |
|
ภัทราภรณ์ พวงศรี |
Executive Editor | |
![]() |
|
เบญจวรรณ ธวัชสุภา |
Content Creater & Web Design | |
![]() |
|
วิษณุ ศรีวิไล | |
มนุษย์ผู้เชื่อวันพีซมีจริง |
ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมป้องกันฝุ่น PM2.pdf |
ขนาดไฟล์ 164KB
ดาวน์โหลด 3 ครั้ง
|
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย |