กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
อรพรรณ แพกุล
เมืองสุขภาพดี กับการลดภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ
กรมอนามัยได้ขับเคลื่อน “เมืองสุขภาพดี” (Healthy City) เพื่อพัฒนาเมืองและชุมชนให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีทั้งสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาพ (Healthy Environments) สถานที่ที่เอื้อต่อสุขภาพ (Healthy Settings) และประชาชนรอบรู้และสุขภาพดี (Healthy People) โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่เพื่อเข้าถึงประชาชน จากข้อมูลล่าสุด ปี 2567 มีจำนวนเมืองที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองสุขภาพดีเพิ่มขึ้นเป็น 274 แห่ง (จาก 108 แห่งในปี 2566) จังหวัดที่มีเมืองเข้าร่วมรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานเมืองสุขภาพดีมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ 36 เมือง (ร้อยละ 7.71) จังหวัดอุบลราชธานี 35 เมือง (ร้อยละ 7.49) และจังหวัดมุกดาหาร 21 เมือง (ร้อยละ 4.49) ทั้งนี้ การดำเนินงานเมืองสุขภาพดี เป็นการสมัครเข้าร่วมการประเมินรับรองตามความสมัครใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีแนวโน้มของเมืองที่สนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้นทุกปี จึงจำเป็นต้องมีการประเมินผลการขับเคลื่อนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาการขับเคลื่อนงานเมืองสุขภาพดีในอนาคต
กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จึงได้จัดทำรายงานอนามัยพยากรณ์ เรื่องเมืองสุขภาพดี กับการลดภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ ซึ่งมุ่งเน้นผลลัพธ์สุขภาพด้านภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุ เนื่องจากสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้การดูแลสุขภาพและการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของเมืองและชุมชนเป็นเรื่องเร่งด่วน
วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional Study) วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากระบบฐานข้อมูลข้อมูลเมืองสุขภาพดี ปี 2566-2567 และข้อมูลประเมินความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (ADL) ของผู้สูงอายุ ปี 2567 จำนวน 381,199 คน จากระบบ Bluebook กรมอนามัย มาหาความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดที่มีเมืองได้รับการรับรองเป็นเมืองสุขภาพดี และภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุในจังหวัดนั้นๆแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มติดบ้าน กลุ่มติดเตียง ด้วย Multivariate Logistic Regressions แสดงด้วยค่า Adjusted Odds Ratio (AOR) ที่ควบคุมอิทธิพลของปัจจัยด้านอายุและเพศ เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้นและเพศเป็นปัจจัยทำนายของการมีภาวะพึ่งพิงที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งคาดการณ์สุขภาพของผู้สูงอายุในปี 2583 โดยการพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์และคำนวณค่าคาดประมาณความชุกของการมีภาวะพึ่งพิง หรือค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยในสมการพหุคูณ Multinomial Logistic Regression แยกตามกลุ่มอายุและเพศ จากนั้นนำมาคูณด้วยค่าคาดประมาณจำนวนประชากรถึงปี 2583 จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา เป็นผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม 366,472 คน (ร้อยละ 96.14) กลุ่มติดบ้าน 10,855 คน (ร้อยละ 2.85) และกลุ่มติดเตียง 3,872 คน (ร้อยละ 1.02) ตามลำดับ โดยพบเมืองสุขภาพดีมีความสัมพันธ์กับภาวะพึ่งพิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value < 0.05) โดยจังหวัดที่มีเมืองที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองสุขภาพดี มีแนวโน้มพบผู้สูงอายุติดเตียงน้อยกว่าจังหวัดที่ไม่มีเมืองสุขภาพดี คิดเป็น 0.86 เท่า (95% CI: 0.77 – 0.95) ขณะที่จังหวัดที่มีเมืองสุขภาพดี มีแนวโน้มที่จะพบผู้สูงอายุติดบ้าน 1.36 เท่า (95% CI: 1.27–1.45) ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าเมืองสุขภาพดีมีระบบคัดกรอง เข้าถึง และให้บริการแก่กลุ่มนี้ได้ดีขึ้น
สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในอนาคต พบว่า ผู้สูงอายุที่คาดว่าจะเป็นกลุ่มติดเตียงเพศชายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากประมาณ 31,639 รายในปี 2564 เป็น 144,063 รายในปี 2583 และกลุ่มติดบ้านเพศชายเพิ่มขึ้นจาก 65,162 รายในปี 2564 เป็น 306,440 รายในปี 2583 เช่นเดียวกับผู้สูงอายุเพศหญิงมีแนวโน้มกลุ่มติดเตียงเพิ่มขึ้นจาก 57,263 ราย ในปี 2564 เป็น 231,893 รายในปี 2583 และมีกลุ่มติดบ้านเพศหญิงเพิ่มขึ้นจาก 167,686 ราย เป็น 641,412 ราย จะเห็นว่าจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในประเทศไทย เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 4 - 5 เท่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 แนวโน้มภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุในอนาคต
สรุปผลการพยากรณ์: เมืองสุขภาพดี กับการลดภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ
พื้นที่ที่มีการขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดี มีแนวโน้มที่จะพบสัดส่วนผู้สูงอายุติดเตียงน้อยกว่าพื้นที่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และจากการคาดการณ์ในอนาคต หากไม่มีการขยายเมืองสุขภาพดีให้เพิ่มมากขึ้น สัดส่วนผู้สูงอายุติดเตียงจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากโครงสร้างประชากรที่มีแนวโน้มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้เป็นเพียงข้อค้นพบในเบื้องต้น ยังมีข้อจำกัดคือ ผลการดำเนินงานเมืองสุขภาพดีที่ผ่านมายังเป็นช่วงเริ่มต้นใน 2 ปีแรก ซึ่งการศึกษาในระยะสั้นนี้อาจยังไม่ครอบคลุมผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นภาพการขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดีในระดับจังหวัด เนื่องจากข้อจำกัดของข้อมูลสุขภาพในระดับเมือง ดังนั้นในการศึกษาต่อไปจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับข้อมูลสถานะสุขภาพ และข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุในระดับเมืองและมีความต่อเนื่องหรือมีข้อมูลในลักษณะเปรียบเทียบก่อนและหลัง (Pre-post comparison) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของเมืองและสุขภาพประชาชนให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น และเกิดประโยชน์ในการเฝ้าระวังสุขภาพของผู้สูงอายุ นำไปสู่การวางแผนและกำหนดนโยบายในการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มวัยก่อนผู้สูงอายุ (Pre-elderly) ที่ควรได้รับการดูแลเชิงรุกตั้งแต่เนิ่น ๆ
บทสรุป
การศึกษานี้ พบว่าเมืองสุขภาพดีมีบทบาทในการลดภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุโดยเฉพาะภาวะติดเตียง “เมืองสุขภาพดี” ไม่ใช่เพียงการจัดการสิ่งแวดล้อมหรือจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่เป็นนโยบายสำคัญในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในการชะลอภาวะพึ่งพิง และเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพในระยะยาว การขยายพื้นที่และยกระดับเมืองสุขภาพดีจึงเป็นนโยบายที่ควรได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีข้อเสนอแนะจากการศึกษานี้ ดังนี้
Writer | |
![]() |
|
อรพรรณ แพกุล |
Editor | |
![]() ![]() |
|
สุนิษา มะลิวัลย์ |
Executive Editor | |
![]() |
|
เบญจวรรณ ธวัชสุภา |
Graphic | |
![]() |
|
วิษณุ ศรีวิไล | |
มนุษย์ผู้เชื่อวันพีซมีจริง |
เมืองสุขภาพดี กับการลดภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ 30-6-68.pdf |
ขนาดไฟล์ 158KB
ดาวน์โหลด 0 ครั้ง
|
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย |