คุณกำลังมองหาอะไร?

น้

น้ำประปาดื่มได้ กับอนาคตสุขภาพของคนไทย : อนามัยพยากรณ์

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

22.03.2567
65
0
แชร์
22
มีนาคม
2567

วิษณุ ศรีวิไล

 

น้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัยเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐได้มุ่งมั่นดำเนินการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำประปาและน้ำบริโภค ซึ่งพบว่ามีผลการดำเนินงานที่น่าสนใจ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

สถานการณ์โรคจากน้ำและอาหารเป็นสื่อ จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า อัตราป่วยของโรคอุจจาระร่วง มีแนวโน้มลดลงจาก 1,623 คนต่อแสนประชากร ในปี 2562 ลดลงเป็น 814 คนต่อแสนประชากร ในปี 2564 อย่างไรก็ตามกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2565 - 2566 ซึ่งหากพิจารณาจากสมาการเชิงเส้นแล้วอัตราป่วยของโรคอุจจาระร่วงมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวโน้มลักษณะเช่นเดียวกับโรคอาหารเป็นพิษ

 

สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคน้ำดื่มจากการสำรวจของอนามัยโพล ในปี 2567 ที่มีผู้ตอบส่วนใหญ่ เลือกบริโภคน้ำดื่มจากน้ำบรรจุขวดปิดสนิท ถึง 58% น้ำบรรจุถัง 20 ลิตร 18% ซึ่งสะท้อนการเข้าถึง ความสะดวก หาซื้อได้ง่าย และการเลือกบริโภคน้ำดื่มจากแหล่งที่สะอาดและน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม มีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 20% เลือกดื่มน้ำประปาที่ต้องผ่านเครื่องกรองในบ้าน ซึ่งอาจมีหลายปัจจัย ทั้งจากราคาเครื่องกรองน้ำ ที่พักไม่เอื้อต่อการใช้เครื่องกรอง และความน่าเชื่อถือในการเลือกน้ำดื่ม เพราะมีเพียง 31% เท่านั้น ที่เชื่อมั่นว่าน้ำประปาดื่มได้

จากข้อมูลน้ำบริโภคตามมาตรฐานน้ำประปาดื่มได้ตามเกณฑ์คุณภาพน้ำบริโภคกรมอนามัย พบสัดส่วนของน้ำบริโภคที่ไม่ได้มาตรฐานค่อนข้างสูงในช่วงปี 2562-2566 ระหว่าง 58 – 68% โดยในปี 2566 พบมีแหล่งน้ำบริโภคที่ไม่ได้มาตรฐานที่ 58%

 

จากรายงานรายงานสรุปสถานการณ์คุณภาพน้ำบริโภค กรมอนามัย ปี 2565 มีการสุ่มตรวจน้ำบริโภคทั่วประเทศ พบว่า คุณภาพน้ำทางด้านชีวภาพ ซึ่งใช้พารามิเตอร์ทางด้านแบคทีเรียเป็นตัวบ่งชี้ ยังพบการปนเปื้อนสูงมากที่สุด โคลิฟอร์มแบคทีเรีย 54% E.coli 31% ทางด้านกายภาพ พบ ความขุ่น 11% ซึ่งบ่งบอกได้ว่าคุณภาพน้ำส่วนใหญ่ไม่มีระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ และระบบฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ส่วนด้านเคมีที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ เหล็ก ความกระด้าง และฟลูออไรด์ จากรายงานฉบับเดียวกันนี้ 75% เป็นแหล่งน้ำจากระบบประปาหมู่บ้าน และจากข้อมูลน้ำประปาหมู่บ้านได้มาตรฐานตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ กรมอนามัย พบว่ายังไม่ได้มาตรฐานค่อนข้างสูง โดยในปี 2562 พบไม่ได้มาตรฐาน 80% และมีแนวโน้มลดลงในปี 2566 ที่ 68%

สอดคล้องกับ ผลการสำรวจอนามัยโพล ประเด็นความเชื่อมั่นในการบริโภคน้ำประปาดื่มที่พบว่า 54% ไม่เชื่อมั่นในการดื่มน้ำประปา โดยมากกว่า 60% มีความกังวลเรื่องความสะอาดและมาตรฐานของสถานที่ผลิตน้ำประปา ซึ่งปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดการเพิ่มขึ้นของจำนวนแหล่งน้ำประปาดื่มได้ที่มีมาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคน้ำประปาดื่มได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับน้ำดื่มได้มาตรฐาน แต่ยังพบปัญหาในการเข้าถึง รัฐในฐานะผู้กำกับดูแลและผลักดันนโยบายจึงยังคงมีโจทย์สำคัญที่จำเป็นต้องบรรลุผลสำเร็จมากขึ้น ทั้งในการขยายการครอบคลุมของแหล่งน้ำประปาดื่มได้ การกำกับดูแลคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนอย่างทั่วถึง หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจังในมิติต่างๆ ดังกล่าว โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านกฎหมาย การลงทุน และการรณรงค์สร้างความตระหนัก ที่ช่วยส่งผลให้สถานการณ์อัตราป่วย คุณภาพน้ำ และการเข้าถึงน้ำประปาดื่มได้มาตรฐาน จะมีแนวโน้มที่ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

 

แหล่งข้อมูล

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2567). ระบบสารสนเทศสนับสนุนงานส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2567.

กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. (2567). ศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศด้านสุขภาพ. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2567.

สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย. (2565). รายงานสรุปสถานการณ์คุณภาพน้ำบริโภค กรมอนามัย ปี 2565. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2567.

 

 

  Writer & Web Design
 
  วิษณุ ศรีวิไล
  มนุษย์ผู้เชื่อวันพีซมีจริง ฝันว่าวันนึงโลกมันจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่พบว่าชีวิตที่เป็นอยู่มันไม่ได้ง่ายเลย ทำไงได้เราเชื่อไปแล้ว

 

  Editor
 
  เบญจวรรณ ธวัชสุภา

 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน