กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วิษณุ ศรีวิไล
พลาสติกเป็นวัสดุที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทย ตั้งแต่ถุงพลาสติก ขวดน้ำ บรรจุภัณฑ์อาหาร ไปจนถึงของใช้ทั่วไป แม้ว่าพลาสติกจะทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่การใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันยังสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพที่รุนแรงมากขึ้น
ข้อมูลจากอนามัยโพล เรื่องพฤติกรรมการใช้พลาสติก พบว่าพฤติกรรมการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยประชาชนที่ตอบแบบสำรวจทุกคนยังคงมีการใช้พลาสติกอยู่ในทุก ๆ วัน ซึ่งกว่า 49% ใช้พลาสติกอย่างน้อย 1-2 ชิ้น/วัน ส่วนใหญ่ใช้พลาสติกประเภทถุงพลาสติกหูหิ้วเป็นหลัก (72.6%) รองลงมาคือขวดน้ำพลาสติก (57.7%) และหลอดพลาสติก (43.5%) โดยเฉพาะถุงพลาสติกที่ใช้ในการบรรจุของใช้ประจำวันมีสัดส่วนการใช้สูงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังมีการใช้พลาสติกประเภทกล่องข้าวพลาสติกและอุปกรณ์พลาสติกอื่น ๆ พฤติกรรมการใช้พลาสติกนี้สะท้อนถึงการบริโภควัสดุที่เป็นภัยต่อสุขภาพ เนื่องจากการใช้พลาสติกประเภทนี้มักจะก่อให้เกิดปัญหาด้านสารเคมีและสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจยอมรับว่ายังใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่องแม้จะทราบถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สะท้อนถึงการขาดความตระหนักเกี่ยวกับผลเสีย ประกอบกับปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับความสะดวก การขาดทางเลือก และการสนับสนุนเชิงนโยบายที่ยังไม่เพียงพอ
การใช้พลาสติกบรรจุภัณฑ์อาหารที่สร้างความสะดวกสบายในปัจจุบัน และการกำจัดขยะพลาสติกที่ไม่ถูกวิธีจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพในอนาคตอย่างร้ายแรงจากสารเคมี เช่น บิสฟีนอลเอ (BPA) และฟทาเลต ที่หลุดออกจากพลาสติก สามารถเข้าสู่ร่างกายและสะสมในเนื้อเยื่อ เมื่อร่างกายได้รับสารเหล่านี้ในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และปัญหาในระบบสืบพันธุ์ โดยเฉพาะในผู้ชาย นอกจากนี้ การกำจัดขยะพลาสติกที่ไม่ถูกต้อง เช่น การเผา จะทำให้เกิดการปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม เช่น ไดออกซินและฟูแรน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า การสัมผัสสารเหล่านี้ในระยะยาวมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ สำหรับประเทศไทยยังคงมีการกำจัดขยะด้วยการฝังกลบที่ไม่ถูกวิธีหรือเผาขยะ ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี โดยมีเพียง 25% เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิลอย่างถูกวิธี
ที่มา : World Health Organization. (2018).
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (2019) คาดการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพจากการได้รับสัมผัสสารเคมีที่มาจากพลาสติก ตั้งแต่ปี 2020 – 2040 โดยพบว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจ และปัญหาเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ภาวะฮอร์โมนผิดปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2020 ถึง 2040 โดยคาดว่าจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งจะเพิ่มขึ้นถึง 195,000 รายภายในปี 2040 ในขณะที่ปัญหาโรคทางเดินหายใจและปัญหาต่อมไร้ท่อก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน (WHO, 2019) สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาถึงตัวเลขของผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากการได้รับสัมผัสสารเคมีจากพลาสติกที่ชัดเจน แต่เฉพาะสถิติด้านสุขภาพจากกรมการแพทย์ในปี 2023 พบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ 140,000 คน/ปี หรือ 400 คน/วัน ที่สำคัญยังพบว่ามีอัตราการเกิดมะเร็งในคนอายุน้อยเพิ่มขึ้น โดยเกิดจากพฤติกรรมการกินมากถึง 30-40% และจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2022 พบการเสียชีวิตของคนไทยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 7 หมื่นราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
อนาคตสุขภาพของคนไทยจึงอยู่ในมือของทุกคน การลดการใช้พลาสติกและเลือกใช้วัสดุทดแทนที่ปลอดภัย ไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการลดการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายเข้าสู่ร่างกาย การรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะและการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัย ควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ จะช่วยลดการสะสมของขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยสารพิษที่เกิดจากการกำจัดขยะที่ไม่ถูกวิธี และส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจากมลพิษทางอากาศและสารเคมีลดลง การจัดการขยะอย่างยั่งยืนจึงไม่เพียงแต่ปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการลดภาระโรคและค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในอนาคต ควบคู่ไปกับการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชนในระยะยาว
ข้อเสนอต่อกรมอนามัย
1. จัดแคมเปญรณรงค์สื่อสารความเสี่ยงจากการใช้พลาสติกแบบเข้มข้น เพิ่มการสื่อสารถึงอันตรายจากการใช้พลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกที่สัมผัสกับอาหารและน้ำดื่มเพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพโดยตรง เช่น การใช้พลาสติกที่ไม่ทนความร้อน หรือพลาสติกที่ไม่ได้มาตรฐานสำหรับบรรจุอาหารร้อน
2. ส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ปลอดภัยที่เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้ประชาชนเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติหรือพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากใบตอง หรือบรรจุภัณฑ์ชีวภาพที่ได้รับการรับรองว่าไม่มีสารพิษต่อร่างกาย
3. พัฒนาและบังคับใช้นโยบายควบคุมการผลิตและจำหน่ายพลาสติก ผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการออกมาตรการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการผลิตและจำหน่ายพลาสติกที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะพลาสติกที่มีสารเคมีอันตราย เช่น บิสฟีนอลเอ (BPA) และฟทาเลต และกระตุ้นให้มีการผลิตพลาสติกที่ปลอดสารพิษเพิ่มมากขึ้น
4. เพิ่มการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากไมโครพลาสติก และจัดทำข้อมูลวิจัยเพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายสุขภาพต่อไป
5. สร้างโครงการส่งเสริมการคัดแยกขยะพลาสติกในชุมชนร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดการใช้พลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง
กรมอนามัย. (2566). พฤติกรรมการใช้พลาสติก. สืบค้นจาก https://hfd.anamai.moph.go.th/th/news-anamai-2/226849
World Health Organization. (2018). Microplastics in Drinking Water. สืบค้นจาก https://www.who.int/publications/i/item/9789241516198
World Health Organization.. (2019). Plastic Waste and Health Impact. สืบค้นจาก https://www.who.int/news/item/22-08-2019-who-calls-for-more-research-into-microplastics-and-a-crackdown-on-plastic-pollution
กรมควบคุมมลพิษ. (2564). รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย. สืบค้นจาก https://www.pcd.go.th/publication/32171/
สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย. (2563). สถานการณ์ขยะมูลฝอยในประเทศไทย. สืบค้นจาก https://www.pcd.go.th/pub_type/รายงานสถานการณ์-รายงาน
Writer & Content Creater & Web Design | |
วิษณุ ศรีวิไล มนุษย์ผู้เชื่อวันพีซมีจริง |
Executive Editor | |
เบญจวรรณ ธวัชสุภา |