คุณกำลังมองหาอะไร?

ถานการณ์พฤติกรรมสุขภาพ ของประชาชนในการป้องกันโรคโควิด 19

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

07.06.2567
14
0
แชร์
07
มิถุนายน
2567

จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและกว้างขวางไปหลายประเทศทั่วโลก ทำให้พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งจากการระบาดในประเทศไทยในช่วงปลายปี 2563 พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีการติดต่อแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังจังหวัดต่าง ๆ ผู้ศึกษาจึงได้สนใจศึกษาสถานการณ์พฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในการป้องกันโรคโควิด 19 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบสถานการณ์พฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และนำไปจัดทำข้อเสนอต่อการดำเนินงานเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค  วิธีการศึกษา เป็นการเฝ้าระวังเชิงรุกโดยใช้วิธีการสำรวจด้วยเครื่องมือแบบสำรวจออนไลน์ (Google Form) กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทั่วประเทศ ใน 77 จังหวัด สำรวจระหว่างวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 – 30 กันยายน 2564  โดยแบ่งผลการสำรวจเป็น 2 ช่วง คือ ก่อนและหลัง ตามการประกาศราชกิจจานุเบกษา ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 46) เรื่อง การผ่อนคลายมาตรการโควิด 19 ประชาชนถอดหน้ากากอนามัยได้ หรือสวมหน้ากากอนามัยโดยความสมัครใจ มีผลวันที่ 23 มิ.ย. 2564 ได้แก่ ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 – 22 มิถุนายน 2564  และช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน – 30 กันยายน 2564  โดยการศึกษานี้วิเคราะห์ข้อมูล 3 ส่วน ประกอบด้วย

1) สถานการณ์พฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในการป้องกันโรคโควิด 19 ภาพประเทศ และรายเขตสุขภาพ ได้แก่ การเว้นระยะห่างส่วนบุคคล การสวมหน้ากากในที่สาธารณะ การล้างมือเป็นประจำ และการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในการป้องกันโรค

2) สถานการณ์พฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในการป้องกันโรคโควิด 19 จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ และอาชีพ และ

3) ข้อเสนอต่อการดำเนินงานเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ผลการศึกษา พบว่า ในภาพรวมผู้ตอบมีพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด 19 ตามมาตรการ DMH ในการสำรวจช่วงที่ 2 เพิ่มขึ้นจากช่วงที่ 1 ทุกพฤติกรรม โดยพบสวมหน้ากากในที่สาธารณะสูงสุดในช่วงเดือนกันยายน 2564 ถึงร้อยละ 98.1 รองลงมา คือ การล้างมือเป็นประจำ ร้อยละ 92.0 และ เว้นระยะห่างส่วนบุคคล ร้อยละ 88.5 พบผู้ตอบในเขตสุขภาพที่ 5 มีพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด 19 ได้ดีที่สุด ทั้ง 3 พฤติกรรม ในขณะที่เขตสุขภาพที่ 12 ควรเน้นย้ำให้ประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกันตนเองทั้ง 3 พฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง และจากการสำรวจสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด 19 ในภาพรวมส่วนใหญ่ผู้ตอบยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ร้อยละ 60.8 โดยในช่วงเดือนเมษายน 2564 ผู้ตอบได้รับการฉีดวัคซีนเพียงร้อยละ 23.3 หลังจากมีการประกาศผ่อนคลายการสวมหน้ากากฯ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564  พบว่าผู้ตอบได้รับการฉีดวัคซีน เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 76.7 นอกจากนี้ เมื่อนำผลการสำรวจมาจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า เพศ อายุ และอาชีพ ที่ต่างกัน ส่งผลให้มีพฤติกรรมการป้องกันโรคที่แตกต่างกัน ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษานี้ สามารถนำมาใช้วิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในการป้องกันโรคโควิด 19 และชี้ให้เห็นมาตรการป้องกันโรคที่ประชาชนปฏิบัติได้น้อย และได้ข้อเสนอเพื่อการวางแผน และสื่อสาร พัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนเพื่อให้ปรับพฤติกรรมที่เหมาะสม รวมทั้งหน่วยงานระดับพื้นที่มีข้อมูลสถานการณ์พฤติกรรมการป้องกันโรคในพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดมาตรการเพื่อการจัดการ สื่อสาร รณรงค์ และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคที่ทันต่อสถานการณ์

คำสำคัญ  พฤติกรรมสุขภาพ, มาตรการป้องกันโรคโควิด 19, มาตรการ DMH

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

สถานการณ์พฤติกรรมโควิด19.pdf
ขนาดไฟล์ 1MB
ดาวน์โหลด 3 ครั้ง
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน